เราทุกคนต่างทราบดีว่าประเทศไทยของเรามีความสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่เป็นแหล่งทรัพยากรที่สำคัญต่อเศรษฐกิจ สังคม และการท่องเที่ยว สร้างรายได้มหาศาลให้กับประเทศ แต่ปัจจุบันพื้นที่ชายฝั่งทะเลไทยกำลังเผชิญกับวิกฤตในหลายด้าน ทั้งในเรื่องของการกัดเซาะชายฝั่ง น้ำมันรั่วไหล และการเปลี่ยนแปลงของคุณภาพน้ำทะเล ซึ่งปัญหาดังกล่าวส่งผลกระทบโดยตรงต่อทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ สังคม และการท่องเที่ยวในประเทศไทย

สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือจิสด้า เล็งเห็นถึงความสำคัญของทรัพยากรกรและการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมทางทะเลและชายฝั่ง จึงได้ดำเนินโครงการพัฒนาระบบเรดาร์ชายฝั่งเพื่อการเตือนภัยทางบกและทางทะเลขึ้น ด้วยการติดตั้งระบบกระจายอยู่ในพื้นที่ชายฝั่งทะเลทั้งอ่าวไทยและอันดามัน จำนวน 24 สถานี

        สถานีเรดาร์ชายฝั่งที่อยู่ตามแนวอ่าวไทย และอันดามัน

โดยข้อมูลจากระบบเรดาร์ชายฝั่ง สามารถนำไปประยุกต์ใช้ด้านต่างๆ เช่น การเปลี่ยนแปลงพื้นที่ชายฝั่งทะเลและการกัดเซาะ โดยใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานในการติดตามพฤติกรรมของคลื่น และกระแสน้ำที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ชายฝั่งของประเทศไทย เพื่อสามารถนำไปใช้เป็นข้อมูลบูรณาการแนวทาง แผนงานโครงการ และงบประมาณการจัดการป้องกันแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง การควบคุมมลพิษ และการเฝ้าระวังทางทะเล สามารถใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานร่วมกับ ข้อมูลภาพถ่ายจากดาวเทียม และข้อมูลอื่นๆ สำหรับวิเคราะห์และสร้างแบบจำลองสถานการณ์ของมลพิษ เพื่อใช้ในการวิเคราะห์ตรวจสอบหาแหล่งที่มา รวมทั้งคาดการณ์พื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบจากมลพิษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรั่วไหลของน้ำมันในทะเลหรือน้ำเสียในทะเล

การบูรณาการเทคโนโลยีเชิงพื้นที่เพื่อสนับสนุนภารกิจของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

นำไปสู่การวางแผนการป้องกัน เก็บกู้ และกำจัดมลพิษได้อย่างทันท่วงที ด้านสมุทรศาสตร์และการบริหารจัดการน้ำ ข้อมูลจากระบบเรดาร์ชายฝั่ง จะช่วยให้ทราบถึงลักษณะการไหลเวียนของกระแสน้ำผิวหน้าทะเลและพฤติกรรมของคลื่น ซึ่งสามารถนำมาวิเคราะห์ศักยภาพในการผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยพลังงานจากคลื่นทะเล และการติดตามสถานการณ์น้ำได้ ด้านคุณภาพน้ำและการประมง สามารถใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานร่วมกับข้อมูลภาพถ่ายจากดาวเทียมและข้อมูลทางกายภาพและชีวภาพ เช่น อุณหภูมิผิวน้ำทะเล ปริมาณคลอโรฟิลล์ และตะกอนแขวนลอย ในการติดตามคุณภาพน้ำ รวมถึงการติดตามสถานการณ์สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่มีความซับซ้อน จึงได้บูรณาการเทคโนโลยีเชิงพื้นที่จากระบบต่างๆ เข้าด้วยกัน เพื่อสนับสนุนภารกิจของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น กองทัพเรือ กรมควบคุมมลพิษ และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง สมาคม ชุมชนชายฝั่ง เป็นต้น เพื่อใช้ประโยชน์ในภาพรวมของประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งนอกเหนือจากการติดตามข้อมูลอันจะช่วยในการบรรเทาปัญหาในทะเลและชายฝั่งแล้ว ระบบเรดาร์นี้ยังถูกออกแบบให้สามารถประยุกต์ใช้ในด้านการเตือนภัย การบรรเทาสาธารณภัย และการส่งเสริมการท่องเที่ยวได้อีกด้วย โดยใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานในการเพิ่มความถูกต้องของผลจากแบบจำลองต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเตือนภัย การบรรเทาสาธารณภัย การท่องเที่ยวต่างๆ การกู้ภัย กรณีเรือแตก เรือล่ม การสัญจรทางทะเล เพื่อช่วยสร้างความมั่นใจให้นักท่องเที่ยว และประชาชน

เพื่อสนับสนุนการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเพื่อการเข้าถึงข้อมูลที่ถูกต้องของประชาชนทั่วไป สทอภ. ได้รวบรวมข้อมูลที่ได้จากระบบเรดาร์ชายฝั่งและนำมาเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ หากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชนทั่วไปต้องการข้อมูลดังกล่าว สามารถสแกนผ่าน QR code ดังปรากฎด้านล่าง

เว็บไซต์ Coastal Radar

นอกจากการเผยแพร่ข้อมูลผ่านเว็บไซต์ในข้างต้น สทอภ. ได้พัฒนาแอปพลิเคชันที่สามารถใช้งานบนโทรศัพท์มือถือ ได้แก่ Gcoast ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันที่ใช้ในการติดตามข้อมูลสภาวะทางทะเล อาทิเช่น ความสูงคลื่น กระแสลม กระแสน้ำ รวมถึงภาพจากกล้องวงจรปิด CCTV ริมทะเล ซึ่งไม่เพียงแต่สามารถติดตามข้อมูลสภาวะทางทะเล แต่ยังสามารถแจ้งเตือนภัยแก่ผู้ใช้งานในกรณีที่เกิดภัยหรือเหตุการณ์ทางทะเล ให้ทราบได้ทันท่วงที นอกจากนี้ สทอภ. ยังได้พัฒนาแอปพลิเคชัน Mongle ขึ้น โดยเพิ่มความสามารถต่อยอดจากแอปพลิเคชัน GCoast ในด้านการสนับสนุนการตัดสินใจเพื่อการท่องเที่ยวทางทะเลอย่างปลอดภัยอีกด้วย

แอพลิเคชั่น Gcoast และ Mongle สามารถใช้งานได้ทั้งในระบบ Android และ iOS ผู้สนใจสามารถดาวน์โหลดได้ผ่าน QR code ด้านล่าง