เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม นายสุทัศน์ วีสกุล ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สสน.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า แบบจำลองสภาพอากาศ (วาฟ-รอม) ของ สสน. ระบุว่า พายุโพดุลได้อ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงและปกคลุมบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนและภาคเหนือตอนล่าง โดยหย่อมความกดอากาศต่ำที่อ่อนกำลังลงจากของพายุโพดุล ยังคงปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้ประเทศไทยยังคงมีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักถึงหนักมากหลายพื้นที่ในช่วงวันที่ 31 สิงหาคม-1 กันยายน โดยเฉพาะบริเวณ จ.มุกดาหาร กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด ยโสธร นครราชสีมา บุรีรัมย์ ชัยภูมิ ขอนแก่น มหาสารคาม สกลนคร เลย เพชรบูรณ์ พิจิตร พิษณุโลก อุตรดิตถ์ สุโขทัย แพร่ แม่ฮ่องสอน ตาก นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว จันทบุรี ตราด กาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และระนอง

“ปริมาณน้ำฝนสะสมวันที่ 31 สิงหาคม หลังจากเกิดฝนตกหนักถึงหนักมากเป็นบริเวณกว้าง ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ ภาคกลางตอนบน รวมทั้งภาคใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน จ.มหาสารคาม 203 มิลลิเมตร เพชรบูรณ์ 175 มิลลิเมตร ร้อยเอ็ด 172 มิลลิเมตร พิษณุโลก 161 มิลลิเมตร ขอนแก่น 157 มิลลิเมตร อุตรดิตถ์ 140 มิลลิเมตร ชัยภูมิ 134 มิลลิเมตร ยโสธร 128 มิลลิเมตร มุกดาหาร 124 มิลลิเมตร กาฬสินธุ์ 120 มิลลิเมตร พิจิตร 112 มิลลิเมตร แพร่ 105 มิลลิเมตร น่าน 103 มิลลิเมตร ระนอง 103 มิลลิเมตร แม่ฮ่องสอน 102 มิลลิเมตร ตาก 102 มิลลิเมตร ลำปาง 99 มิลลิเมตร ชุมพร 96 มิลลิเมตร นครราชสีมา 94 มิลลิเมตร และสุรินทร์ 93 มิลลิเมตร” นายสุทัศน์กล่าว

ผู้อำนวยการ สสน.กล่าวว่า ผลจากพายุโพดุลในครั้งนี้ ในภาพรวมทำให้เขื่อนหลายแห่ง รวมทั้งแหล่งน้ำหลายพื้นที่มีปริมาณน้ำเก็บกักเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะน้ำในเขื่อนหลักอย่างเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ที่เดิมมีน้ำอยู่น้อยมากๆ น่าจะมีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นในหลักหนึ่งร้อยล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ส่วนเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ก็น่าจะมีน้ำเข้าเขื่อนไม่ต่ำกว่า 400 ล้าน ลบ.ม.เช่นเดียวกัน เช่นเดียวกับเขื่อนแควน้อย ที่คาดว่าจะมีน้ำเข้าเขื่อน 90-100 ล้าน ลบ.ม.เช่นกัน ทำให้พื้นที่เกษตรมีน้ำหล่อเลี้ยง โดยเฉพาะนาข้าวที่กลัวกันว่าจะแห้งตายก่อนหน้านี้ฟื้นตัวขึ้นมาอย่างเห็นได้ชัด

“นอกจากพายุโพดุลแล้ว เวลานี้เรายังจับตาพายุอีกลูกหนึ่งที่ตอนนี้เคลื่อนตัวอยู่ไกลๆ แถวนอกฝั่งประเทศฟิลิปปินส์ ก็มีความเป็นไปได้ว่าจะเคลื่อนที่เข้าประเทศไทยต่อจากโพดุล แต่เวลานี้ยังไม่สามารถสรุปอะไรได้มากนอกจากจับตามองอย่างใกล้ชิด” นายสุทัศน์กล่าว

นายอานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือจิสด้า กล่าวว่า ที่ผ่านมาถือว่าหลายพื้นที่ขาดแคลนน้ำจนเกือบเข้าขั้นวิกฤต การที่มีพายุเข้ามาแบบนี้ถือว่าสร้างโอกาสให้เกษตรกรจำนวนมาก และเวลานี้จิสด้ายังจับตาดูพายุอีกลูกหนึ่งอยู่นอกชายฝั่งประเทศฟิลิปปินส์ คาดว่าอีกราว 10 วัน จะมีความชัดเจนว่าจะมีทิศทางอย่างไร แต่ไม่ใช่เรื่องที่น่าตกใจ เพราะเวลาอีก 10 กว่าวัน จะสามารถเตรียมการรับมือได้มาก และถือเป็นเรื่องปกติของช่วงฤดูฝนของประเทศไทยที่จะต้องมีพายุเข้าอย่างน้อย 2 ลูก มิฉะนั้นแล้วจะมีปัญหาเรื่องปริมาณน้ำที่จะต้องเก็บกัก

กลุ่มเหตุการณ์
ด้านภัยพิบัติ
ประเภทเหตุการณ์
พายุ/ดิเปรสชั่น/สึนามิ
แหล่งข่าว
มติชนออนไลน์
ความถูกต้องของตำแหน่ง
ปานกลาง