การยกเตาถลุงเหล็กโบราณ เมื่อกลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เพื่อนำไปอนุรักษ์และศึกษายังศูนย์การเรียนรู้ประจำชุมชน

เป็นทีมที่เผยแพร่ความรู้และความคืบหน้าด้านโบราณคดีสู่สาธารณะผ่านโลกโซเชียลได้อย่างโดดเด่นอย่างยิ่ง สำหรับ กลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ เพราะไม่ว่าจะขุด จะค้น จะคุยกับใคร ก็เอามาโพสต์ให้สังคมรับรู้ผ่านเพจเฟซบุ๊ก archaeology 7 chiang mai จนแชร์สนั่นกันไปหลายต่อหลายโปรเจ็กต์ สร้างความเคลื่อนไหวและความโมเมนต์ของการมีส่วนร่วมอยู่ห่างๆ อย่างช่วยกันลุ้นว่าพรุ่งนี้จะมีอะไรให้ชาวเชียงใหม่ และอีก 7 จังหวัดแห่งล้านนาได้พากันเฮดังๆ จากการค้นพบหลักฐานใหม่ๆ

ยิ่งไปกว่านั้น นักโบราณคดีรุ่นใหม่ๆ ในทีม ยังมีปฏิสัมพันธ์อันดีกับชาวบ้านและชุมชน โดยจับมือกันจัดกิจกรรมดีๆ ที่ไม่ใช่แค่อีเวนต์ทำเท่ โดยล่าสุด หลังการค้นพบ เตาถลุงเหล็กโบราณยุคก่อนประวัติศาสตร์อายุไม่ต่ำกว่า 1,500 ปี ที่ตำบลแม่ลาน อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน แล้วทำการขุดค้น อีกทั้งศึกษาข้อมูลเบื้องต้น พร้อมเผยแพร่สู่สาธารณชนไปแล้ว ก็ยังหารือผู้นำชุมชนและคนในพื้นที่ซึ่งสุดท้ายมีความเห็นตรงกันว่า ควรโยกย้ายเตาดังกล่าวไปอนุรักษ์สภาพและจัดแสดงไว้ในศูนย์การเรียนรู้ประจำชุมชน ซึ่งจะเปิดให้ผู้สนใจเข้ามาเยี่ยมชมศึกษาต่อไป ไม่ใช่ปล่อยให้ผุพังหรือเก็บไว้แต่ในรายงานวางบนชั้นในสำนักงานเท่านั้น

ในการเคลื่อนย้าย สำนักฯ เชียงใหม่ ยังนำภาพขั้นตอนที่ต้องใช้ความระมัดระวังอย่างสูงมาเผยแพร่ให้ทุกฝ่ายเข้าใจถึงการทำงานอันรอบคอบ เพื่อรักษาสภาพเดิมของหลักฐานให้สมบูรณ์มากที่สุด พร้อมระบุถ้อยความ

ขอขอบพระคุณทีมงานกำนัน-ผู้ใหญ่บ้านตำบลแม่ลานเป็นอย่างสูง ที่กรุณาทุ่มเททั้งกำลังกายและกำลังใจอย่างสุดความสามารถ เพื่อให้งานครั้งนี้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี

แหล่งเตาดังกล่าว ถูกพบตั้งแต่ พ.ศ.2561 จากการออกสำรวจร่องรอยแหล่งถลุงเหล็กโบราณในพื้นที่อำเภอลี้ซึ่งมีไม่ต่ำกว่า 30 แหล่ง และมีแนวโน้มว่าจะมีการค้นพบมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเตาที่กล่าวมานี้ มีสภาพค่อนข้างสมบูรณ์มากที่สุดเตาหนึ่งในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทย จึงเริ่มขุดค้นอย่างจริงจังในปีงบประมาณ 2562 หวังให้ข้อมูลเกี่ยวกับกลุ่มแหล่งถลุงเหล็กโบราณในพื้นที่อำเภอลี้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น ทั้งในแง่ของอายุสมัย กรรมวิธี เทคนิค และรูปแบบเตาถลุง ก่อนนำไปสู่ตีความถึงระดับการผลิตของแหล่งถลุงเหล็กโบราณในแถบนี้

การขุดค้นทางโบราณคดีได้เปิดเผยให้เห็นฐานเตาถลุงเหล็กโบราณ ผนังก่อขึ้นจากดินเหนียวปั้นเผาไฟตั้งแต่ส่วนฐานซึ่งมีช่องระบายตะกรัน จนถึงส่วนช่องเติมอากาศ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 90 เซนติเมตร นอกจากนี้ ยังหลงเหลือ ก้อนแร่เหล็กซึ่งเป็นวัตถุดิบที่ผ่านกระบวนการย่อยให้มีขนาด 2-3 เซนติเมตร รวมถึงตะกรันจากการถลุงเหล็ก มีทั้งรูปแบบก้อนขนาดใหญ่ที่ค้างอยู่ภายในเตา และรูปแบบน้ำตาเทียนที่ถูกเจาะระบายออกมานอกเตา

เตาถลุงเหล็กโบราณ ยุคก่อนประวัติศาสตร์ อายุราว 1,500 ปี ที่บ้านแม่ลาน ศึกษาโดย ยอดดนัย สุขเกษม นักโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่

นักโบราณคดี ระบุด้วยว่า พบร่องรอยของเตาถลุงเหล็กขนาดใหญ่ทับซ้อนอยู่ในหลุมขุดค้นไม่ต่ำกว่า 8 เตา โดยเตาถลุงมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางตั้งแต่ 70-90 เซนติเมตร เบื้องต้นจึงสันนิษฐานว่าการถลุงเหล็กในพื้นที่ดังกล่าว น่าจะสร้างผลผลิตเป็นเหล็กในปริมาณค่อนข้างมากเพื่อแลกเปลี่ยนกับดินแดนภายนอก ส่วนการกำหนดอายุที่แน่ชัด มีการเก็บตัวอย่างถ่านตกค้างอยู่ภายในก้อนตะกรันที่พบจากการขุดค้น เพื่อส่งไปศึกษาค่าอายุทางวิทยาศาสตร์แล้ว

โดยการศึกษาครั้งนี้ ถือเป็นค้นพบและสร้างองค์ความรู้ครั้งสำคัญ เกี่ยวกับพัฒนาทางวัฒนธรรมของผู้คนในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทย จากยุคสมัยโลหะสู่สมัยการสร้างบ้านแปงเมืองในดินแดนล้านนา

กลุ่มเหตุการณ์
ด้านสังคมและวัฒนธรรม
ประเภทเหตุการณ์
ศิลปวัฒนธรรม โบราณสถาน โบราณวัตถุ
แหล่งข่าว
มติชนออนไลน์
ความถูกต้องของตำแหน่ง
ปานกลาง