กรุงเทพฯ – เร่งเก็บน้ำในอ่าง-แก้มลิงอีสานกลาง

30 กันยายน 2563

กรุงเทพฯ 30 ก.ย. – สำนักงานชลประทานที่ 6 เก็บกักน้ำในอ่าง พร้อมผันระบายน้ำท่าเพิ่มขึ้นจากพายุโนอึลเข้าไปเก็บกักไว้ในแก้มลิงและแหล่งน้ำธรรมชาติให้มากที่สุด ส่วนเขื่อนอุบลรัตน์มีน้ำไหลเข้าต่อเนื่องจนมากกว่าปริมาณเก็บกักต่ำสุด ไม่ต้องใช้น้ำก้นอ่างแล้ว

นายศักดิ์ศิริ อยู่สุข ผู้อำนวยการ สำนักงานชลประทานที่ 6 เปิดเผยว่า ได้บริหารจัดการน้ำเน้นเก็บกักน้ำจากฝนที่ตกด้วยอิทธิพลของพายุโซนร้อนโนอึลวันที่ 18-20 กันยายนที่ผ่านมา ประกอบกับหย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณทะเลจีนใต้ ทำให้มีฝนตกในพื้นที่ตอนกลางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 5 จังหวัด ได้แก่ ขอนแก่น ชัยภูมิ มหาสารคาม กาฬสินธุ์ และร้อยเอ็ด ทำให้มีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 3 แห่งและอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 69 แห่งรวม 380 ล้านลูกบาศก์เมตร

ทั้งนี้ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มอบนโยบายให้เก็บกักน้ำในช่วงปลายฤดูฝน รวมทั้งใช้อาคารชลประทานบริหารผันน้ำเข้าไปเก็บกักไว้ในแก้มลิงและแหล่งน้ำธรรมชาติให้มากที่สุด ล่าสุดมีน้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติและแก้มลิง 103 แห่ง มีน้ำ 263 ล้าน ลบ.ม. และเก็บกักในเขื่อนระบายน้ำลำน้ำชี 6 แห่ง อีก 168 ล้าน ลบ.ม. รวมปริมาณน้ำที่สามารถเก็บกักได้ประมาณ 811 ล้าน ลบ.ม. รวมแล้วเก็บกักน้ำแก้มลิงได้เพิ่มขึ้นอีก 1 เท่าจากปริมาณน้ำที่มีอยู่เดิม

สำหรับลุ่มน้ำชีตอนบน ลำคันฉู และลำปะทาว ผันน้ำเข้าไปเก็บกักน้ำไว้ในแก้มลิง 61 แห่ง ปริมาณน้ำ 127 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่ลุ่มน้ำชีตอนกลาง เก็บกักน้ำไว้ในแก้มลิง 11 แห่ง ปริมาณน้ำ 63 ล้าน ลบ.ม. นอกจากนี้ ยังวางแผนเก็บกักน้ำโดยจะปรับเพิ่มการระบายน้ำที่เขื่อนชนบทลงแม่น้ำชี จากนั้นจะนำเครื่องจักรเข้าไปขุดเปิดทางน้ำ เพื่อชักน้ำเข้ามาเก็บกักที่หนองกรองแก้ว อ.ชนบท จ.ขอนแก่น และผันเข้าไปเก็บกักไว้ที่กุดละว้า คาดว่าจะสามารถเติมน้ำให้หนองกรองแก้วประมาณ 10 ล้าน ลบ.ม. ส่วนลุ่มน้ำยังตอนล่างผันน้ำเข้าไปเก็บกักไว้ที่แก้มลิง 3 แห่ง รวมปริมาณน้ำที่เก็บกักประมาณ 30 ล้าน ลบ.ม.

ด้านลุ่มน้ำพรม-เชิญได้ผันน้ำเข้าไปเก็บกักไว้ที่แก้มลิง 28 แห่ง ปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น 43 ล้าน ลบ.ม. ทำให้มีน้ำส่วนเกินจากที่ผันเข้าแก้มลิงสองฝั่งลำน้ำพรม-เชิญระบายผ่านประตูระบายน้ำ (ปตร.) ลำน้ำเชิญตัวที่ 2 อำเภอหนองเรือ ไปลงที่เขื่อนอุบลรัตน์ประมาณ 10 ล้าน ลบ.ม. และยังมีปริมาณน้ำในลุ่มน้ำพรม-เชิญที่จะไหลลงเขื่อนอุบลรัตน์อีก ซึ่งจะส่งผลดีต่อการเพิ่มปริมาณน้ำในเขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น จากเดิมปริมาณน้ำก้นอ่างติดลบประมาณ 107 ล้าน ลบ.ม. ทำให้ปัจจุบันเขื่อนอุบลรัตน์มีน้ำใช้การได้ประมาณ 86.27 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งมากกว่าปริมาณเก็บกักต่ำสุด ขณะนี้จึงไม่ต้องใช้น้ำก้นอ่าง แต่ใช้น้ำไหลเข้าอ่างเพิ่มระบายเพื่ออุปโภคบริโภควันละ 290,000 ลบ.ม.


นายศักดิ์ศิริ กล่าวต่อว่า อธิบดีกรมชลประทานย้ำโครงการชลประทานทุกแห่งกำหนดแผนการบริหารจัดการน้ำ โดยเน้นส่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคเป็นหลัก ควบคู่ไปกับการเก็บกักน้ำในช่วงฤดูฝนมากที่สุด พร้อมทั้งบริหารจัดการน้ำท่าในแม่น้ำและแหล่งน้ำธรรมชาติให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อให้มีน้ำสำรองถึงต้นฤดูฝนปีหน้า.-

สำนักข่าวไทย