จีน – วิจัยชี้‘มลพิษอากาศ’ ทำอายุขัยทั่วโลกสั้นลงเกือบ2ปี

วันอาทิตย์ ที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2563

วิจัยชี้‘มลพิษอากาศ’ ทำอายุขัยทั่วโลกสั้นลงเกือบ2ปี

9 สิงหาคม 2563 สำนักข่าวซินหัว รายงาน การวิเคราะห์ข้อมูลจากดัชนีคุณภาพอากาศ (AQLI) ที่จัดทำโดยสถาบันนโยบายพลังงานแห่งมหาวิทยาลัยชิคาโก (EPIC) พบว่ามลพิษจากฝุ่นละอองจะลดอายุขัยเฉลี่ยของคนทั่วโลกลงเกือบ 2 ปี เมื่อเทียบกับอายุขัยที่ควรจะเป็น หากคุณภาพอากาศเป็นไปตามแนวทางขององค์การอนามัยโลก

การวิเคราะห์ที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยชิคาโกเมื่อวันพฤหัสบดี (6 ส.ค.) ระบุว่ามลพิษจากฝุ่นละอองเป็นความเสี่ยงสูงสุดต่อสุขภาพของมนุษย์ก่อนจะเกิดการระบาดของโรคโควิด-19

มลพิษจากฝุ่นละอองกำลังส่งผลกระทบที่มองไม่เห็นภายในร่างกายมนุษย์ และเป็นภัยร้ายแรงที่ทำให้อายุขัยสั้นลงได้มากยิ่งกว่าโรคติดต่ออย่างวัณโรคและเอชไอวี เพชฌฆาตที่เกิดจากพฤติกรรมเช่นการสูบบุหรี่ หรือแม้กระทั่งสงคราม

เกือบหนึ่งในสี่ของประชากรทั่วโลกอาศัยอยู่ใน 4 ประเทศเอเชียใต้ ซึ่งอยู่ในกลุ่มพื้นที่ที่มีมลพิษมากที่สุดในโลก ได้แก่ บังกลาเทศ อินเดีย เนปาล และปากีสถาน ผู้คนที่อาศัยอยู่ในประเทศเหล่านี้อาจมีชีวิตสั้นลงโดยเฉลี่ย 5 ปี หลังจากเผชิญกับระดับมลพิษที่ตอนนี้สูงกว่าเมื่อสองทศวรรษที่ผ่านมาถึงร้อยละ 44

มลพิษจากฝุ่นละอองยังเป็นปัญหาน่ากังวลที่สำคัญในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ซึ่งแหล่งกำเนิดมลพิษแบบดั้งเดิม เช่น ยานพาหนะ โรงไฟฟ้า และอุตสาหกรรม รวมกับการเผาป่าและพื้นที่เพาะปลูก ได้สร้างความเข้มข้นของมลพิษอย่างร้ายแรง ดังนั้นร้อยละ 89 ของประชากร 650 ล้านคนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จึงอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีฝุ่นละอองเกินกว่ามาตรฐานที่องค์การอนามัยโลกกำหนด

จีนเริ่ม “สงครามสู้มลพิษ” มาตั้งแต่ปี 2013 นับจากนั้นการลดมลพิษของโลกเกือบสามในสี่เป็นผลงานจากจีน จีนช่วยลดมลพิษฝุ่นละอองได้เกือบร้อยละ 40 และหากยังคงดำรงลักษณะเช่นนี้ต่อไป ก็คาดได้ว่าพลเมืองจีนอาจมีชีวิตอยู่ได้นานกว่าตอนที่พวกเขายังไม่ได้ปฏิรูปประมาณ 2 ปี

สหรัฐอเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่น ก็ประสบผลสำเร็จในการลดมลพิษเช่นเดียวกัน เนื่องจากนโยบายที่เข้มแข็งซึ่งมาพร้อมกับการเรียกร้องให้ประชาชนเปลี่ยนแปลง อย่างไรก็ตาม ความก้าวหน้าในผลงานของพวกเขาก็ทำให้เห็นภาพระดับและความเร็วของความก้าวหน้าของจีนมากขึ้น สหรัฐฯ และยุโรปต้องใช้เวลานานหลายสิบปีในการลดมลพิษ ในขณะที่จีนใช้เวลา 5 ปี โดยที่เศรษฐกิจเติบโตอย่างต่อเนื่องไปพร้อมกัน

“ประเทศต่างๆ ในปัจจุบันพยายามที่จะสร้างสมดุลระหว่างเป้าหมายทั้ง 2 ด้าน คือการเติบโตทางเศรษฐกิจและคุณภาพสิ่งแวดล้อม บทเรียนที่ผ่านมาจากทั่วโลกบ่งบอกว่านโยบายสามารถลดมลพิษทางอากาศในบริบททางการเมืองที่หลากหลายได้” ไมเคิล กรีนสโตน ผู้อำนวยการสถาบันนโยบายพลังงานแห่งมหาวิทยาลัยชิคาโก และผู้นำนักเศรษฐศาสตร์ที่มุ่งวิจัยด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม กล่าว “ดัชนีคุณภาพอากาศแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าผลประโยชน์นั้นวัดได้จากการที่มีชีวิตยืนยาวและสุขภาพดีขึ้น”

อนึ่ง ดัชนีคุณภาพอากาศถูกตั้งขึ้นในปี 2018 เป็นตัวเลขแสดงค่าความเข้มข้นของมลพิษทางอากาศ ที่บ่งบอกว่าจะเกิดโอกาสส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของผู้อยู่อาศัยในพื้นที่นั้นได้มากขึ้นอย่างไร

สำนักข่าวแนวหน้า