ขอนแก่น : เทศบาลนครขอนแก่นเตรียมพร้อมป้องกันน้ำท่วม

27 พ.ค. 2020        ทีมข่าว 77 ขอนแก่น

เทศบาลนครขอนแก่นเข้มพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม 30 แห่ง ลดระดับน้ำในบึงเป็นแก้มลิงรับน้ำ ขุดลอกทางระบายน้ำ ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ และระบบเตือนภัย

ที่บริเวณอาคารป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เทศบาลนครขอนแก่น นายธีระศักดิ์ ฑีฆายุพันธุ์ นายกเทศมนตรีนครขอนแก่น ได้ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการวางมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยและวาตภัยในพื้นที่เขตเทศบาลนครขอนแก่น ซึ่งจากการพยากรณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยาคาดว่า ฤดูฝนของประเทศไทยปีนี้เริ่มต้นประมาณปลายสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา และจะสิ้นสุดประมาณกลางเดือนตุลาคม 2563

ซึ่งปริมาณฝนรวมของทั้งประเทศในช่วงฤดูฝนปีนี้จะมากกว่าปีที่แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเดือนสิงหาคมและกันยายน ซึ่งเป็นเดือนที่มีฝนตกชุกหนาแน่นที่สุด และมีโอกาสสูงที่จะมีพายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนผ่านประเทศไทยตอนบน อันจะส่งผลให้มีฝนตกหนักถึงหนักมากในหลายพื้นที่ และอาจก่อให้เกิดสภาวะน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก รวมทั้งน้ำล้นตลิ่งได้ในบางแห่ง

ดังนั้น เทศบาลนครขอนแก่น จึงได้วางแผนเกี่ยวกับมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยและวาตภัยในพื้นที่เขตเทศบาลนครขอนแก่น โดยแบ่งสถานการณ์ออกเป็น 3 ระดับ คือ ระดับสถานการณ์สีเหลือง (ปริมาณฝน <30 มม./วัน) ระดับสถานการณ์สีส้ม (ปริมาณฝน 30-60 มม./วัน) และ ระดับสถานการณ์สีแดง (ปริมาณฝน > 60 มม./วัน)

โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยง จำนวน 15 โซน 30 พื้นที่ ดังนี้

-โซนที่ 1 สวัสดี-สามเหลี่ยม ได้แก่ บริเวณซอยสวัสดี ,ถนนมิตรภาพช่วงด้านหน้าสถานีตำรวจทางหลวงถึงปากซอยอดุลยาราม ,หมู่บ้านพิมานศิลป์ (ชุมชนหนองแวงตราชู 1, ชุมชนหนองแวงตราชู 3)

-โซนที่ 2 หลังศูนย์-จอมพล ได้แก่ ถนนหลังศูนย์ราชการ ซอย 14 ,ถนนกสิกรทุ่งสร้าง ,ถนนจอมพล ,ถนนราษฎร์คนึง ซอย 9 (ชุมชนหลังศูนย์ราชการ 1 ,ชุมชนหลังศูนย์ราชการ 2 ,ชุมชนดอนหญ้านาง 2)

-โซนที่ 3 ทุ่งสร้าง-หนองใหญ่ ได้แก่ หมู่บ้านทุ่งเศรษฐี ,ชุมชนหนองใหญ่ 4 (ชุมชนทุ่งเศรษฐี ,ชุมชนหนองใหญ่ 1 ,ชุมชนหนองใหญ่ 4 ,ชุมชนธนาคร)

-โซนที่ 4 ศรีจันทร์-ศรีฐาน ได้แก่ บึงหนองบอน ,บริเวณรอบศาลหลักเมือง ,ชุมชนศรีฐาน (ชุมชนศรีฐาน 1 ,ชุมชนศรีฐาน 3 ,ชุมชนศรีฐาน 4 ,ชุมชนศรีจันทร์)

-โซนที่ 5 ประตูเมือง-บ้านกอก ได้แก่ ถนนบ้านกอก ,ถนนมิตรภาพบริเวณด้านหน้าโค้วยู่ฮะ ,หมู่บ้านบุญสม (ชุมชนเทคโนภาค ,ชุมชนหนองวัดพัฒนา)

-โชนที่ 6 แยกเจริญศรี ได้แก่ ถนนเหล่านาดีตัดทางรถไฟ ,ซอยเหล่านาดี 12 (ชุมชนเหล่านาดี 12)

-โซนที่ 7 สนามกีฬา-การเคหะ ได้แก่ ซอยเมตตา ,ชุมชนการเคหะ (ชุมชนหนองแวงเมืองเก่า 2 ,ชุมชนการเคหะ)

-โซนที่ 8 บึงแก่นนคร ได้แก่ ถนนรอบบึงแก่นนคร ,ถนนศรีธาตุประชาสรรค์ (ชุมชนบ้านตูมชุม ,ชนหนองแวงเมืองเก่า 3 ,ชุมชนพระนครศรีบริรักษ์ ,ชุมชนโนนทัน 1

-โซนที่ 9 โนนทัน-อนามัย ได้แก่ ซอยน้ำทิพย์ 1-2 ,ซอยอนามัย (ชุมชนโนนทัน 4 ,ชุมชนโนนทัน 6)

-โซนที่ 10 ในเมือง ได้แก่ ถนนหน้าเมืองช่วงห้างแฟรี่พลาซ่า ,ถนนเฉลิมพระเกียรติช่วงร้านส้มตำอินเทอร์เน็ต (ชุมชนโนนหนองวัด 3)

-โซนที่ 11 คุ้มหนองคู ได้แก่ ถนนรอบเมืองบริเวณด้านหลังอาชีวะขอนแก่น ,คุ้มหนองคู (ชุมชนคุ้มหนองคู)

-โซนที่ 12 ชลประทาน-โนนทัน 7 ได้แก่ ชุมชนบ้านพักชลประทาน ,ชุมชนโนนทัน 7)

-โซนที่ 13 ชุมชนโพธิบัลลังก์ทอง (ชุมชนโพธิบัลลังก์ทอง ,ชุมชนหนองใหญ่ 2 ,ชุมชนหนองใหญ่ 3)

-โซนที่ 14 แยกโรงพยาบาลกรุงเทพ ได้แก่ ถนนกัลปพฤกษ์ (ชุมชนสามเหลี่ยม 1)

-โซนที่ 15 แยกอุโมงค์สามเหลี่ยม ถนนมิตรภาพบริเวณด้านหน้า บจก.รวมทวีฯ (ชุมชนศรีฐาน 2 ,ชุมชนมิตรภาพ)

โดยเทศบาลนครขอนแก่นได้เตรียมมาตรการรับมือเพื่อป้องกันปัญหา ดังนี้

1.การจัดตั้งศูนย์อำนวยการปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยและวาตภัย เทศบาลนครขอนแก่น War Room ที่บริเวณอาคารป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เทศบาลนครขอนแก่น

2.การบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็น จังหวัดขอนแก่น เทศบาลนครขอนแก่น สำนักงานชลประทานที่ 6 ขอนแก่น โครงการชลประทานขอนแก่น ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดขอนแก่น อำเภอเมืองขอนแก่น มณฑลทหารบกที่ 23 กรมทรัพยากรน้ำภาค 4 ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นต้น

3.การเตรียมการบริหารจัดการแหล่งน้ำในพื้นที่

3.1 ทำหนังสือแจ้งให้เทศบาลตำบลบ้านเป็ด ลดระดับน้ำในบึงหนองโคตรลง เพื่อเป็นแก้มลิงกักเก็บน้ำ เพื่อชะลอน้ำใหลเข้าสู่เขตเมืองเร็วเกินไป ช่วงต้นเดือนมีนาคมของทุกปี

3.2 ทำหนังสือแจ้งมหาวิทยาลัยขอนแก่น ลดระดับน้ำในหนองเอียดลง เพื่อเป็นแก้มลิงกักเก็บน้ำ ไม่ให้น้ำไหลเข้าสู่เขตเมืองเร็วเกินไป ช่วงต้นเดือนมีนาคมของทุกปี

3.3 รักษาระดับน้ำในบึงแก่นครให้ระดับสูงไม่เกิน 0.50 เมตรจากระดับบันไดลงบึงขั้นสุดท้าย เพื่อเป็นแก้มลิง ช่วงต้นเดือนเมษายนของทุกปี

3.4 ตรวจสอบบานประตูน้ำทุกบานให้อยู่ในสภาพดีพร้อมใช้งานได้ ช่วงต้นเดือนเมษายนของทุกปี

3.5 ขุดลอกทางรับน้ำและแก้มลิงบริเวณบึงทุ่งสร้าง

4.การเตรียมการก่อนเข้าสู่ฤดูฝน ไม่ว่าจะเป็นการขุดลอกผักตบชวาตามแหล่งน้ำหรือคลองน้ำ ,การวางท่อระบายน้ำ การขุดลอกท่อระบายน้ำ ตลอดจนการติดตั้งระบบเตือนภัยน้ำท่วม กล้องวงจรปิด CCTV

5.การติดตั้งเครื่องสูบน้ำ ขนาด 8 นิ้ว จำนวน 2 เครื่อง พร้อมจัดกำลังเจ้าหน้าที่ประจำจุด เพื่อเฝ้าระวังในพื้นที่จุดเสี่ยง ตลอด 24 ชั่วโมง และการเตรียมพร้อมเครื่องสูบน้ำ ขนาด 3 นิ้ว ประจำสถานีดับเพลิงทั้ง 4 แห่งๆ ละ 2 เครื่อง นอกจากนั้นได้เตรียมความพร้อมเลื่อยโซ่ยนต์ จำนวน 17 เครื่อง เพื่อประจำการกรณีเหตุวาตภัย

6.การวางแผนปฏิบัติการเก็บขยะออกจากบริเวณปากท่อ / ตะแกงฝาท่อ เตรียมการและแก้ไขปัญหาในภาวะน้ำท่วมในพื้นที่เสี่ยง โดยมีหน่วยกวาดถนน หน่วยรถเก็บค่าขยะภาคกลางคืน และหน่วยเฉพาะกิจ ชุมชนทั้ง 4 เขต ออกปฏิบัติการสลับหมุนเปลี่ยนการทำงาน ตลอด 24 ชั่วโมง

นอกจากนั้นเทศบาลนครขอนแก่นยังได้เตรียมแผนเพื่อรองรับการเยียวยาประชาชนเมื่อเกิดสาธารณภัย ตลอด 24 ชั่วโมง ได้แก่ การประสานงานเต้นท์ ที่พัก อาหาร ถุงยังชีพ วัสดุอุปโภค บริโภค ชุดเครื่องนอน การลงพื้นที่สำรวจและตรวจสอบความเสียหายบ้านพักอาศัยของประชาชน การสงเคราะห์ช่วยเหลือค่าวัสดุซ่อมแซมบ้านพักอาศัยที่ประสบภัยเท่าที่จ่ายจริง หลังละไม่เกิน 20,000 บาท แต่หากมีกรณีค่าวัสดุซ่อมแซมตั้งแต่ 20,000 บาทนั้น เทศบาลจะดำเนินการประสานงานส่งให้กับอำเภอเมืองขอนแก่นและจังหวัดขอนแก่น เพื่อพิจารณาให้การช่วยเหลือเพิ่มเติมอีก แต่โดยรวมแล้วการช่วยเหลือในแต่ละหลังคาเรือน ต้องไม่เกิน 33,000 บาท

สส. จับมือ อบจ. อบต. และชลประทาน ลุยกำจัดผักตบชวา วัชพืช คลองระพีพัฒน์ เตรียมรับน้ำช่วงฤดูฝนนี้
เลย แล้งหนัก ระบบประปาขาดน้ำ โรงพยาบาลขาดน้ำ น้ำธรรมชาติหมด แห้ง
เลย แล้งหนัก น้ำประปาแห้ง ขาด ต้องสูบน้ำโขงขึ้นมาเติม ทำประปาอำเภอปากชม
ท้ายสุดนี้ เทศบาลนครขอนแก่น ขอประชาสัมพันธ์ไปยังพี่น้องประชาชนในเขตเทศบาล รณรงค์สร้างจิตสำนึกและให้ความร่วมมือไม่ทิ้งขยะในที่สาธารณะหรือแหล่งน้ำต่างๆ เพื่อป้องกันปัญหาขยะอุดตัน กีดขวางทางน้ำไหล และเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ นอกจากนี้ ประชาชนยังสามารถประสานงานขอรับกระสอบทรายกั้นน้ำ (ไม่เกิน 30 กระสอบต่อหลังคาเรือน หรือขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ที่ออกไปตรวจสอบ) โดยแจ้งรายละเอียดของที่พักอาศัยพร้อมสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน (ต้องมีที่อยู่ในเขตเทศบาลนครขอนแก่นเท่านั้น) ยื่นได้ที่ฝ่ายป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เทศบาลนครขอนแก่น (ตรงข้ามศาลหลักเมือง) ทั้งนี้ ข้อมูล ณ วันที่ 26 พฤษภาคม 2563 มีประชาชนมารับกระสอบทรายกั้นน้ำ 23 ครัวเรือน จำนวน 535 กระสอบ