เศรษฐกิจของประเทศไทยต้องพึ่งพาการปลูกพืชเศรษฐกิจทั้ง 4 ชนิด ได้แก่ ข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง และอ้อย
ที่สามารถใช้ข้อมูลจากดาวเทียมเพื่อวางแผนการผลิตให้ออกมาอย่างมีประสิทธิภาพได้


ประเทศไทยเป็นประเทศที่ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม เรามักเคยชินกับการเห็นภาพการทำงานของเกษตรกรที่ต้องลงแรงด้วยความเหนื่อยยาก ลุงทุนด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่มีเพียงผืนดินของตัวเอง โดยไม่ได้ใช้เทคโนโลยีในกระบวนการผลิตที่ซับซ้อน และการเกษตรของประเทศไทยโดยส่วนใหญ่ยังเป็นไปในลักษณะดั้งเดิม คือต้องพึ่งพาสภาพอากาศที่ไม่แน่นอนเป็นตัวแปรสำคัญในการผลิต ทำให้เรามักรับรู้ข่าวสารว่าสภาพอากาศส่งผลให้การเพาะปลูกของบรรดาเกษตรกรไม่เป็นไปตามที่ต้องการอยู่บ่อยครั้ง

นอกจากนี้ เรามักรับรู้เรื่องของผลผลิตการเกษตรชนิดต่างๆ ที่อยู่ในภาวะ “ล้นตลาด” หรือ “ขาดตลาด” ในช่วงเวลาหนึ่ง อันเป็นผลมาจากการขาดการจัดการวางแผนการผลิตและจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตรอย่างมีประสิทธิภาพ และยังมีเรื่องของปัจจัยที่ส่งผลต่อการเกษตรอื่นๆ เช่นภัยพิบัติ ศัตรูพืช เป็นต้น

ดังนั้น เราอาจกล่าวได้ว่าทั้งการบริหารจัดการ การประเมินสถานการณ์ในส่วนของภาคการผลิตทางการเกษตรเป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่งซึ่งจะเป็นเครื่องมือในการบรรเทาปัญหาดังกล่าวของเกษตรกร และส่งผลให้พวกเขามีรายได้ที่เพียงพอ มีผลผลิตที่ได้คุณภาพสู่ท้องตลาด เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภค ซึ่งจะส่งผลดีต่อภาพรวมทางเศรษฐกิจของประเทศ

สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน)- สทอภ. หรือจิสด้า ในฐานะหน่วยงานที่ให้บริการด้านเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศของประเทศไทยได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการใช้เทคโนโลยีดาวเทียมในการช่วยเหลือด้านการสนับสนุนข้อมูลเพื่อแก้ปัญหาและวางแผนการผลิต และการเข้ามามีบทบาทในการบริการจัดการพื้นที่เกษตร โดยเฉพาะพืชเศรษฐกิจหลักของประเทศ 4 ชนิด ได้แก่ ข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง และอ้อย เพื่อรายงานสถานการณ์ของพืชเหล่านี้ตั้งแต่เริ่มเพาะปลูกไปจนถึงการเก็บเกี่ยว

ขั้นตอนการใช้ข้อมูลจากดาวเทียมเพื่อติดตามสถานการณ์ผลิตพืชเศรษฐกิจทั้ง 4 ชนิดของไทย

จิสด้าดำเนินการติดตามพื้นที่เพาะปลูกพืชเศรษฐกิจทั้ง 4 ชนิด ในพื้นที่ครอบคลุมทั้งประเทศ โดยมุ่งไปที่การติดตามสถานการณ์การเพาะปลูกพืชดังกล่าวจากข้อมูลดาวเทียมทั้งจากระบบแพสซีฟ (Passive) ได้แก่ MODIS Landsat-8 และ Sentinel-2 และระบบแอคทีฟ (Active) ได้แก่ Sentinel -1 และ Radarsat-2 โดยข้อมูลดาวเทียมเหล่านี้ทำให้จิสด้าสามารถติดตามการเพาะปลูกของพืชเศรษฐกิจได้ทันต่อสถานการณ์การผลิตที่เกิดขึ้นจริง

ในการติตตามการเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจจากข้อมูลดาวเทียม จะดำเนินการโดยการวิเคราะห์แบบอนุกรมเวลา (Time Series) คือข้อมูลที่มีการเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา โดยมีการใช้ค่าดัชนีพืชพรรณต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมาวิเคราะห์ข้อมูล และปรับปรุงข้อมูลให้ทันสมัยทุก 2 สัปดาห์ (15 วัน) โดยข้อมูลแต่ละชุดที่มาจากภาพถ่ายดาวเทียมในแต่ละพื้นที่ที่ต่างกันสามารถนำมาซ้อนทับ เพื่อหาทั้งข้อมูลช่วงเวลาที่เริ่มปลูกพืชของแต่ละพื้นที่ รวมไปถึงวันเก็บเกี่ยวผลผลิต และมีขั้นตอนการใช้ข้อมูลเพื่อพยากรณ์ผลผลิตต่อไร่ เพื่อให้จิสด้าสามารถคาดการณ์ปริมาณผลผลิตที่ผลิตได้ในช่วงเวลาต่างๆ ของปี   ในการวิเคราะห์ข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมโดยเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญสามารถทำให้เราได้ทราบสถานการณ์การเจริญเติบโตของผลผลิตจากสถานที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ออกเป็น 4 สถานะ ได้แก่ สถานะ Growing(กำลังเจริญเติบโต) คือการนับช่วงเวลาตั้งแต่มีการเริ่มปลูกพืชและค่อยๆ เจริญเติบโต, สถานะ Mature(โตเต็มไว) คือช่วงเวลาที่พืชเติบโตเต็มที่และพร้อมเก็บเกี่ยว, สถานะ Harvest (เก็บเกี่ยว) คือช่วงเวลาที่สามารถทำการเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ และสถานะ Nothing(ไร้การเพาะปลูก) คือช่วงเวลาที่ผืนดินว่างเปล่าเพื่อรอคอยฤดูกาลเพาะปลูกครั้งต่อไป ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะมีประโยชน์ในการวางแผนตั้งแต่วันเริ่มเพาะปลูกไปจนถึงการคำนวณปริมาณผลผลิตที่ออกสู่ท้องตลาด ซึ่งการประมาณการวันเก็บเกี่ยวจะมีการบูรณาการข้อมูลพันธุ์พืชต่างๆ กับหน่วยงานอื่นๆ เช่น กรมการข้าว สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร และสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย

โดยปริมาณผลผลิตจะได้มาจากสมการ ปริมาณผลผลิต = พื้นที่เพาะปลูก (ข้อมูลจากดาวเทียม) X ผลผลิตเฉลี่ยต่อพื้นที่

ข้อมูลดังกล่าวนี้จะมีการนำเสนอไปยังหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง และเอกชนที่ต้องการข้อมูลเพื่อการวางแผนการจัดการผลผลิต รวมไปถึงประชาชนทั่วไปผ่านการเผยแพร่ทางเว็บไซต์ของจิสด้า

เครื่องมือเพื่อการเข้าถึงและรวบรวมข้อมูลเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจโดยประชาชน

เพื่อให้บุคคลทั่วไป โดยเฉพาะเกษตรกร ได้รับทราบข้อมูลการปลูกพืชเศรษฐกิจเหล่านี้ในระดับประเทศ ทางจิสด้าได้ให้บริการระบบติดตามสถานการณ์การเพาะปลูกข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง และอ้อย จากดาวเทียม ซึ่งสามารถเข้าถึงได้ทางเว็บไซต์ https://ecoplant.gistda.or.th/ ซึ่งจะมีทั้งข้อมูลแสดงพื้นที่เพาะปลูกพืชเหล่านี้จากข้อมูลดาวเทียมแยกตามช่วงเวลาทุก 2 สัปดาห์ รวมไปถึงพื้นที่ชลประทาน โดยผู้ใช้งานสามารถดาวน์โหลดแผนที่ และข้อมูลสรุปสถานการณ์การเพาะปลูกแยกตามพื้นที่ได้

นอกจากนี้ ทางจิสด้าได้จัดทำระบบบริการภูมิสารสนเทศเพื่อการเกษตร หรือ GISagro ซึ่งพัฒนาขึ้นเพื่อประโยชน์เพื่อใช้ข้อมูลดาวเทียมและข้อมูลสารสนเทศในการสำรวจพื้นที่เพาะปลูกพืชเศรษฐกิจที่สำคัญแบบรายแปลง โดยเปิดโอกาสให้เกษตรกรลงทะเบียนเพื่อส่งข้อมูลการเพาะปลูกรายแปลงที่แม่นยำให้กับทางจิสด้า และได้รับการสนับสนุนข้อมูลภูมิสารสนเทศเพื่อการเพาะปลูกจากทางจิสด้าเช่นกัน ผ่านเว็บไซต์ https://gisagro.gistda.or.th/ อันเป็นกระบวนการทำงานร่วมกันระหว่างจิสด้าและเกษตรกร เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อเศรษฐกิจของประเทศ และโครงการที่ควบคู่ไปกับ GISagro คือการติดตั้งสถานีตรวจวัดอากาศเพื่อการเกษตรและภัยพิบัติ ให้ครอบคลุมและกระจายทั่วประเทศในพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดภัยพิบัติ เพื่อนำค่าที่ได้ไปประกอบกับข้อมูลที่ได้รับมาจากดาวเทียม นำมาใช้ในการบริหารจัดการในภาคการเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพ

โครงการพัฒนาระบบติดตามและเฝ้าระวังสภาพอากาศ เพื่อการเกษตร (CROPMET) เป็นอีกหนึ่งโครงการจากจิสด้าติดตามเฝ้าระวังทั้งเรื่องของสภาพภูมิอากาศและการเกิดโรค-ศัตรูพืช ที่มีขึ้นเพื่อลดความเสี่ยงและหาทางป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อผลผลิตทางการเกษตร โดยใช้ข้อมูลจากดาวเทียมและจัดเป็นแผนที่เพื่อให้ประชาชนสามารถติดตามสถานการณ์ในเรื่องดังกล่าวได้ที่ https://cmet.gistda.or.th/ และโครงการสุดท้ายที่จะกล่าวถึง โครงการพัฒนาระบบประเมินความสมบูรณ์ของพืช (Crop Health)เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการติดตามและตรวจสอบพื้นที่การเกษตรของประเทศไทย โดยเฉพาะข้าวว่ามีความสมบูรณ์มากน้อยเพียงใด โดยใช้ข้อมูลจากดาวเทียมเพื่อประเมินสถานภาพและความสมบูรณ์ของพืช เช่น ดัชนีพืชพรรณ สุขภาพของพืช ความเครียดของพืชในการขาดน้ำ ประมวลผลออกมาเป็นรูปแบบแผนที่ที่ระบุข้อมูลดังกล่าวตามพื้นที่ต่างๆ ของประเทศไทย ที่ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ทางเว็บไซต์ http://crophealth.gistda.or.th/

ดังนั้นเราจะเห็นได้ว่า ทางจิสด้าได้ให้บริการข้อมูลด้านภูมิสารสนเทศเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับเกษตรกรได้เพาะปลูกพืชเศรษฐกิจอย่างครบถ้วนและรอบด้าน อันจะส่งผลดีให้เกษตรกรได้มีแนวทางที่ถูกต้องในการทำเกษตรตามสถานการณ์และช่วงเวลาที่ต่างกัน และส่งผลดีต่อรัฐบาลในด้านการบริหารทรัพยากรทางการเกษตรแบบองค์รวมและสามารถบรรเทาความเดือดร้อนที่อาจเกิดจากการทำเกษตรได้ทันเหตุการณ์

ประเทศไทยนั้นมีรากเหง้าและสร้างชาติมาจากการเกษตร อันเป็นอาชีพที่ได้รับการตกทอดจากบรรพบุรุษมาอย่างยาวนาน อย่างไรก็ตาม ในโลกยุคปัจจุบันที่เต็มไปด้วยความก้าวหน้า ภาคการเกษตรจำเป็นต้องปรับตัวและหาทางพัฒนากระบวนการผลิตที่เคยเป็นมาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ผ่านการใช้เทคโนโลยีอย่างเกิดประโยชน์สูงสุด โดยข้อมูลจากดาวเทียม จะเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาการเกษตรไทยให้ทัดเทียมกับนานาประเทศได้