จิสด้า (GISTDA) ส่งเสริมและสนับสนุนการใช้ข้อมูลจากดาวเทียมและภูมิสารสนเทศ ในฐานะเครื่องมือ
ทรงประสิทธิภาพในการอนุรักษ์บริหารจัดการและการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรป่าไม้อย่างบูรณาการและยั่งยืน

หากโลกเปรียบได้กับร่างกายมนุษย์ ป่าไม้ย่อมเทียบเคียงได้กับอวัยวะสำคัญอย่าง “ปอด” ซึ่งทำหน้าที่ผลิตและ ฟอกอากาศให้บริสุทธิ์ เพื่อให้ร่างกายดำรงอยู่อย่างปกติสุข ฉันใดก็ฉันนั้น สำหรับโลก ป่าไม้คือแหล่งดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์อันเป็นสาเหตุหลักของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือภาวะโลกร้อน ป่าไม้ช่วยควบคุมสมดุลต่างๆ ในธรรมชาติ เช่นเดียวกับทะเลและมหาสมุทร และสำหรับผู้คนอีกนับไม่ถ้วน ป่าไม้คือซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่ อันเป็นแหล่งอาหารหล่อเลี้ยงชีวิต สุขภาวะของป่าไม้จึงเกี่ยวข้องโดยตรงกับความอยู่ดีมีสุขของมนุษย์ทั้งในระดับชุมชน ประเทศ และโลก

ทั่วโลกและในประเทศไทย ป่าไม้เผชิญแรงกดดันจากการเพิ่มขึ้นของประชากร ซึ่งหมายถึงความต้องการทรัพยากรมากขึ้น ปัญหาการบุกรุกแผ้วถางป่าเพื่อทำการเกษตรและผลิตอาหาร ส่งผลให้พื้นที่ป่าลดลง จนก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ ทั้งภัยพิบัติทางธรรมชาติ ความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศและถิ่นอาศัยของสัตว์ป่า ไฟป่า ภัยแล้ง อุทกภัย และอื่นๆ

สำหรับประเทศไทย แม้พื้นที่ป่าจะลดลงอย่างมากเมื่อเทียบกับในอดีต แต่ด้วยความตระหนักในความสำคัญของทรัพยากร ป่าไม้ และการตื่นตัวของทุกภาคส่วนในการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ ทำให้สถานการณ์โดยรวมมีแนวโน้มไปในทางที่ดีขึ้น ตัวเลข ณ ปี พ.ศ.2561 พื้นที่ป่าไม้ทั้งประเทศของไทยอยู่ที่ 102.49 ล้านไร่ หรือคิดเป็น 31.68 % ของพื้นที่ประเทศ

Figure 1 ดินดอนสามเหลี่ยมปากน้ำตาปี อ.เมืองสุราษฎร์ธานี จ.สุราษฎร์ธานี ที่มาภาพ https://www.gistda.or.th/main/th/node/3196

สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือจิสด้า ในฐานะหน่วยงานสนับสนุนที่มีองค์ความรู้ เทคโนโลยี และข้อมูลเชิงประจักษ์ อาทิ ภาพถ่ายจากดาวเทียม และข้อมูลภูมิสารสนเทศอื่นๆ ได้ทำหน้าที่ให้บริการด้านข้อมูลเหล่านี้แก่หน่วยงานภาครัฐ เอกชน ตลอดจนองค์กรส่วนท้องถิ่นและชุมชน เรื่อยไปจนถึงระดับประชาชนให้สามารถ “เข้าถึง” และ “ใช้ประโยชน์” ในการอนุรักษ์ การบริหารจัดการ และการแก้ปัญหาอันเกี่ยวข้องกับทรัพยากรป่าไม้ในลักษณะต่างๆ อาทิ

การอนุรักษ์ : ข้อมูลภาพถ่ายจากดาวเทียมจากช่วงเวลาต่างๆ ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถเปรียบเทียบและวิเคราะห์ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับทรัพยากรป่าไม้ ทั้งที่มีสาเหตุจากธรรมชาติและที่มนุษย์ก่อขึ้น ทำให้ไม่เพียงสามารถระบุระดับความรุนแรงปัญหาต่างๆ ตั้งแต่การตัดไม้ทำลายป่า การรุกล้ำพื้นที่ป่าจากกิจกรรมการเกษตร ไปจนถึงภัยพิบัติอย่างไฟป่า และการพังทลายของหน้าดิน เป็นต้น ไม่เพียงเท่านั้น ข้อมูลภูมิสารสนเทศข้างต้นยังช่วยในการระบุพื้นที่ป่าลักษณะต่างๆ เช่น ป่าสมบูรณ์ ป่าเสื่อมโทรม ป่ารอการฟื้นฟู ตลอดจนการใช้ประโยชน์ในที่ดินลักษณะต่างๆ อาทิ นาข้าว แปลงพืชไร่ บ้านเรือน และกิจกรรมอื่นๆ

Figure 2 GISTDA ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบความถูกต้องของผลการวิเคราะห์จุดการเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่ป่าชายเลน จังหวัดจันทบุรี และจังหวัดตราด ที่มาภาพ https://gmos.gistda.or.th/?p=2172

ข้อมูลเหล่านี้ยังเป็น “เครื่องมือสำคัญยิ่ง” ที่ใช้ติดตามและตรวจวัดสุขภาวะของทรัพยากรป่าไม้ นวัตกรรมหนึ่งที่จิสด้าพัฒนาขึ้นคือ ระบบติดตามสถานการณ์ป่าไม้ (GISTDA Forest Monitoring System: G-FMS) ทั้ง Web Application (https://gfms.gistda.or.th) และ Mobile Application (g-fms) ที่ประชาชนสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากข้อมูล ในรูปแบบของแผนที่และสถิติ อาทิ พื้นที่ป่าไม้รายจังหวัด ข่าวเหตุการณ์ป่าไม้ (การบุกรุกป่า การจับกุมการขนไม้ ไฟป่า การเก็บของป่า การล่าสัตว์ และการปลูกป่า) การเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่ป่า การใช้ประโยชน์ที่ดิน ไปจนถึงการคำนวณปริมาณคาร์บอนที่ป่าแต่ละประเภทสามารถกักเก็บไว้ได้ นับเป็นเครื่องมือที่ทันสมัย ใช้งานง่าย มีประสิทธิภาพ และช่วยให้ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ได้อย่างกว้างขวางและทั่วถึง

Figure 3 ระบบติดตามสถานการณ์ป่าไม้จากจิสด้า https://gfms.gistda.or.th

การบริหารจัดการทรัพยากรป่าไม้ : นอกเหนือจากการกันพื้นที่อนุรักษ์ในลักษณะต่างๆ เช่น ป่าต้นน้ำ ป่าสงวน และอุทยานแห่งชาติ เป็นต้น เราไม่อาจปฏิเสธได้ว่า การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรป่าไม้เป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตชุมชนมากมายในประเทศไทย การอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้อย่างยั่งยืนประการหนึ่งจึงอยู่ที่การทำให้คนและชุมชนสามารถ อยู่ร่วมกับป่าได้โดยไม่รุกล้ำทำลาย ขณะเดียวกันก็สามารถใช้ประโยชน์จากทรัพยากรป่าไม้ได้ในเวลาเดียวกัน ที่ผ่านมาจิสด้ามีส่วนส่งเสริมและสนับสนุนการใช้ข้อมูลและเทคโนโลยีภูมิสนเทศ ตลอดจนดำเนินโครงการต่างๆ ร่วมกับองค์กรท้องถิ่นและชุมชนต่างๆ เช่น การติดตามการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าบุ่งป่าทาม ตำบลหาดแพง อำเภอ ศรีสงคราม จังหวัดนครพนม การจัดการทรัพยากรที่ดินและป่าไม้ในพื้นที่อำเภอกัลยาณิวัฒนา จังหวัดเชียงใหม่ การจัดทำฐานข้อมูลภูมิสารสนเทศระดับชุมชน ตำบลป่าตึง อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย เป็นต้น การใช้ข้อมูล จากภาพถ่ายดาวเทียม ตลอดจนการลงพื้นที่ของจิสด้าร่วมกับชุมชนในท้องถิ่น ไม่เพียงช่วยให้ชุมชนสามารถบริหารจัดการ และใช้ประโยชน์จากทรัพยากร เช่น ป่าชุมชน อย่างยั่งยืน แต่ยังสามารถวิเคราะห์การใช้ประโยชน์จากที่ดินทำกินอย่าง มีประสิทธิภาพสูงสุดและสอดคล้องกับศักยภาพของแต่ละพื้นที่ เช่น การเลือกพืชเพาะปลูกอย่างเหมาะสม และการใช้รูปแบบการเกษตรผสมผสาน (พืชสวน พืชไร่ ที่นา เลี้ยงสัตว์ แหล่งน้ำ ที่อยู่อาศัย) เป็นต้น

นอกจากการบริหารจัดการทรัพยากรป่าไม้แล้ว ข้อมูลภาพถ่ายจากดาวเทียม และข้อมูลภูมิสารสนเทศ ยังเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยในการติดตามความคืบหน้าในการฟื้นฟูสภาพป่า โดยเฉพาะการปลูกป่า ซึ่งในอดีตมักประสบปัญหาไม่สามารถติดตามความก้าวหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ จนเป็นสาเหตุของการสูญเสียงบประมาณ แต่ด้วยเทคโนโลยีดังกล่าว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถระบุได้ถึงอัตราการรอดของต้นกล้า ติดตามการเจริญเติบโตของกล้าไม้ในระยะต่างๆ ไปจนถึงข้อมูลเชิงลึกอย่างการนับจำนวนต้นไม้ในแปลง นับเป็นคุณูปการสำคัญที่จะทำให้โครงการฟื้นฟูป่าไม้ในปัจจุบันและอนาคตได้ผลคุ้มค่า ไม่สูญเปล่า และเกิดประโยชน์สูงสุด

การใช้ประโยชน์ด้านอื่นๆ : ข้อมูลภาพถ่ายจากดาวเทียม และข้อมูลภูมิสารสนเทศ ที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรป่าไม้ ยังสามารถนำไปใช้ประโยชน์ด้านอื่นๆ เช่น การจำแนกพื้นที่สีเขียวในชุมชนเมือง สัดส่วนประชากรต่อต้นไม้ หรือพื้นที่สีเขียวในเมือง การใช้ประโยชน์จากที่ดินในเขตป่า สัดส่วนของชุมชนในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ การวิเคราะห์พื้นที่ต้องสงสัยการบุกรุกป่า และพื้นที่เสี่ยงต่อการบุกรุกป่า เป็นต้น