ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา สังเกตุได้ว่า เรามักจะได้ยินข่าวเกี่ยวกับไฟป่าเพิ่มมากขึ้น ไม่เพียงเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น แต่ดูเหมือนจะเกิดขึ้นในพื้นที่ป่าหลายพื้นที่ทั่วโลก

หากจะกล่าวถึงการเกิดไฟป่าในประเทศไทย คงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องกล่าวถึง ไฟป่าในพื้นที่ภาคเหนือที่เกิดขึ้นบ่อยเสียจนเรียกได้ว่าเป็นงานประจำปี โดยผลกระทบของการเกิดไฟป่า ไม่เพียงแต่เผาทำลายทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่าเท่านั้น แต่ยังก่อให้เกิดหมอกควันและฝุ่นละอองในอากาศส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจและทัศนะวิสัยในการมองเห็น ซึ่งเป็นอุปสรรคที่สำคัญต่อการขับขี่ยานพาหนะ และการขึ้น-ลงของอากาศยาน ผลกระทบที่เกิดขึ้นไม่เพียงแต่ส่งผลต่อคนในพื้นที่ แต่ยังส่งผลกระทบต่อเนื่องที่ลุกลามไปยังคุณภาพชีวิต เศรษฐกิจ สังคมและการท่องเที่ยว ของพื้นที่ภาคเหนือในวงกว้าง

สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน): สทอภ.ได้เล็งเห็นถึงปัญหาไฟป่าและหมอกควันที่เกิดขึ้น จึงได้นำองค์ความรู้ด้านภูมิสารสนเทศมาใช้ติดตามสถานการณ์และจัดทำเป็นรายงานข้อมูลสถานการณ์ไฟป่าและหมอกควันในภาพรวมทั้งประเทศ โดยใช้ข้อมูลจากดาวเทียมTERRA และ AQUA ระบบ MODIS (Moderate Resolution Imaging Spectroradiometer) ในการแสดงผลของข้อมูลการเปลี่ยนแปลงของความร้อนบนพื้นดิน ซึ่งจะทำให้ทราบถึงตำแหน่งของการเกิดไฟ ขนาดของพื้นที่ที่เกิดไฟ ช่วงเวลา และความถี่ของการเกิดไฟ ช่วยในการวิเคราะห์ความรุนแรงของไฟป่า

รวมถึงเป็นข้อมูลในการคาดการณ์พื้นที่เสี่ยงเกิดไฟป่า และช่วยให้การจัดการไฟป่ามีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้ยังใช้ดาวเทียม Soumi NPP ระบบVisible Infrared Imaging Radiometer Suite (VIIRS) และ ดาวเทียม Landsat-8 ระบบ Operational Land Imager (OLI) และ Thermal Infrared Sensor (TIRS) ซึ่งสามารถแสดงรายละเอียดพื้นที่เผาไหม้ที่มีขนาดเล็กได้แม่นยำช่วยให้สามารถลงพื้นที่เข้าดับไฟได้ก่อนที่จะลุกลามเป็นไฟขนาดใหญ่ได้ จากการเก็บรวบรวมข้อมูล พบว่า สถิติตั้งแต่ปี 2559-2561 บริเวณพื้นที่ภาคเหนือมีปริมาณไฟป่าลดลง แต่กลับเพิ่มสูงขึ้น ในปี 2562 ทั้งนี้เป็นผลมาจากปรากฏการณ์เอลนีโญ่ ที่ส่งผลให้พื้นที่ภาคเหนือเกิดความแห้งแล้ง ปริมาณน้ำฝนต่ำกว่าค่าปกติ ทำให้เกิดไฟได้ง่ายและลุกลามอย่างรวดเร็ว ประกอบกับ ความกดอากาศสูง การเคลื่อนตัวของลมน้อย และลักษณะภูมิประเทศเป็นแอ่งกระทะ ส่งผลให้ฝุ่นละอองแขวนลอยอยู่ในบรรยากาศนานกว่าช่วงเวลาอื่น และสะสมจนมีความหนาแน่นปริมาณหมอกควันและฝุ่นละอองจึงเพิ่มขึ้นมากกว่าในปีที่ผ่านมา

ศึกที่ผ่านมา

จากการบูรณาการของหน่วยงานภายใต้กลไกพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยพ.ศ. 2550 และการอำนวยการสั่งการของผู้ว่าราชการจังหวัดตามระบบ Single command ให้ทุกหน่วยงานดำเนินการอย่างเข้มข้น ทั้งการลาดตระเวนป้องปราบ การตรวจหาไฟป่าและการเผา การระดมสรรพกำลังอุปกรณ์เครื่องมือจากกองทัพภาคที่ 3 ตำรวจ เครือข่ายอาสาสมัคร และเจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช และกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เข้าดับไฟก่อนเกิดการลุกลาม รวมถึงบังคับใช้กฎหมายกับผู้กระทำผิด นอกจากนี้ กรมควบคุมมลพิษ และสทอภ.ใช้เทคโนโลยีในการติดตามเฝ้าระวัง และรายงานข้อมูล เพื่อประกอบการวางแผนรับมือปัญหาไฟป่าและหมอกควันอย่างต่อเนื่องและทันสถานการณ์ อย่างไรก็ตามจากการถอดบทเรียนการทำงานในปี 2562 พบว่ายังมีข้อจำกัดในหลายด้านที่ส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพในการทำงาน ได้แก่ งบประมาณ การจัดการเชื้อเพลิง รวมไปถึงเครือข่ายความร่วมมือของชุมชนท้องถิ่น ซึ่งเป็นฐานกำลังที่สำคัญที่สามารถช่วยสอดส่องการเกิดไฟป่าในพื้นที่ได้อย่างเป็นรูปธรรม

สู้อีกสักตั้ง

เพื่อให้หน่วยงานสามารถจัดหาวัสดุ/อุปกรณ์ ป้องกัน ดับไฟ ได้ทันต่อสถานการณ์ ด้านการบริหารจัดการเชื้อเพลิง การควบคุมปริมาณการเผา จัดระเบียบการเผา จัดการเชื้อเพลิงตามหลักวิชาการ รวมถึงส่งเสริมการทำเกษตรปลอดการเผาและสนับสนุนให้มีการนำเศษวัสดุจากการเกษตรมาใช้ประโยชน์ด้านการขยายเครือข่ายหมู่บ้านป้องกันไฟ (อส.ปม.) สนับสนุนงบประมาณอย่างต่อเนื่อง เพื่อส่งเสริมการทำงานของเครือข่าย และเพิ่มจำนวนเครือข่ายหมู่บ้านให้ครอบคลุมพื้นที่ โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยง และพื้นที่ที่มีไฟไหม้ซ้ำซากด้านการจัดทำรายงานข้อมูลและประชาสัมพันธ์เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงข้อมูลสถานการณ์ไฟป่าและหมอกควันได้ถูกต้อง แม่นยำ และสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น ตลอดจนสนับสนุนการศึกษาวิจัย นวัตกรรม ร่วมกับภาคการศึกษา NGOs ภาคเอกชน และภาคประชาชน นอกจากนี้ยังประสานความร่วมมือระหว่างประเทศในการแก้ไขปัญหาหมอกควัน จากการประชุมสิ่งแวดล้อมอาเซียน (Haze Free ASEAN Roadmap)เมื่อเดือนมิถุนายน 2562 ได้มีข้อตกลงเชิงนโยบายให้แต่ละประเทศเร่งทำแผนแก้ปัญหาที่ชัดเจน นำเอาไปสู่เป้าหมายอาเซียนปลอดหมอกควันในปี 2563