สถานการณ์โลกยุคปัจจุบันนับเป็นยุคแห่งข้อมูลข่าวสาร ทุกภาคส่วนล้วนต้องพึ่งพาข้อมูล และเทคโนโลยี เพื่อประกอบการตัดสินใจในการวางแผนและขับเคลื่อนการพัฒนาในทุกระดับ ตามแนวยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี กำหนดเป้าหมายการพัฒนาประเทศในระยะยาว เพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนชาวไทย ผ่านกรอบแนวทางการพัฒนาประเทศที่ชัดเจนและมีความต่อเนื่อง โดยจำเป็นต้องมุ่งเน้นการสร้างสมดุลระหว่างการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ที่มีเป้าหมายการพัฒนานำศักยภาพ ข้อมูล องค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรม มาร่วมขับเคลื่อน โดยสนับสนุนการรวมตัวของประชาชน ร่วมคิด ร่วมทำ เพื่อส่วนรวม และกระจายอำนาจความรับผิดชอบไปสู่กลไกการบริหารจัดการระดับพื้นที่ เสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนในการจัดการตนเอง เพื่อมุ่งหวังก่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development) โดยเป็นการมองครอบคลุมทุกมิติแบบองค์รวม ทั้งในด้านกายภาพ เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม นโยบาย การเมือง ทรัพยากร สิ่งแวดล้อมและชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชน ผ่านเทคโนโลยีที่เหมาะสมบูรณาการความร่วมมือ เชื่อมโยง ข้อมูล องค์ความรู้ เทคโนโลยีอวกาศและนวัตกรรมเชิงภูมิสารสนเทศ ร่วมสนับสนุนและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่

ภาพตัวอย่างความเชื่อมโยงของบริบทสังคมกับเทคโนโลยี

                 สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือจิสด้า มุ่งมั่นในการสร้างคุณค่าจากเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ เพื่อให้ประชาชนชาวไทยสามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลที่ถูกต้องและแม่นยำ โดยการทำงานร่วมกับชุมชนมาอย่างต่อเนื่อง น้อมนำหลักการทรงงานแห่งศาสตร์พระราชา เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” ตาม โดยศึกษาปัญหาด้านสภาพแวดล้อม เศรษฐกิจสังคม วัฒนธรรมชุมชนและข้อจำกัดของพื้นที่ เพื่อนำไปพิจารณาแนวทางความต้องการการแก้ปัญหา ให้เกิดการยอมรับและเป็นที่ไว้วางใจ นำไปสู่การสร้างความร่วมมือ ทั้งนี้ ในการพัฒนาการดำเนินงาน ได้มุ่งเน้นให้ ประชาชนและหน่วยงานระดับพื้นที่ มีส่วนร่วมในการกำหนดแนวทางแก้ปัญหา และปฏิบัติร่วมกัน รวมถึงส่งเสริมผลักดันให้เกิดการต่อยอดขยายผลรูปธรรมความสำเร็จให้พื้นที่อื่นๆ เพื่อพัฒนาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศกับชุมชน โดยมีผลงานที่ดำเนินการไปแล้วหลายโครงการ ดังนี้

ภาพรวมของระบบ Measuk Portal ที่จัดทำโดยจิสด้า เพื่อรวมศูนย์ข้อมูลสำคัญต่อการพัฒนาพื้นที่ต.แม่ศึก อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่

การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศในการบริหารจัดการพื้นที่ในตำบลแม่ศึก อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ โดยการร่วมพัฒนาเครื่องมือที่ชื่อว่า Measuk Portal เพื่อบูรณาการข้อมูลเทคโนโลยีสารสนเทศในการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ในตำบลแม่ศึก ที่มีปัญหาสำคัญเรื่องที่ดินทำกินของประชาชนในเขตพื้นที่ป่าของรัฐ ขาดข้อมูลชี้เป้าการพัฒนาที่ตรงจุด แนวทางการจัดการร่วม (Co-Management) เป็นรูปแบบการทำงานร่วมในพื้นที่ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน ประชาสังคม เข้ามามีส่วนร่วมต่อการสำรวจข้อมูลที่ดินทำกิน 17 หมู่บ้าน รวมถึงข้อมูลเฉพาะเรื่องอื่นๆ ของชุมชน ไม่ว่าจะเป็น ตำแหน่งฝายชะลอน้ำ จุดโม่ข้าวโพด สถานที่ท่องเที่ยว เป็นต้น มีการยกระดับจัดตั้งศูนย์บริหารจัดการเชิงพื้นที่โดยองค์การบริหารส่วนตำบลแม่ศึก เป็นเจ้าภาพหลัก การเปิดโอกาสเปิดพื้นที่ให้ประชาชนได้เข้าถึงระบบข้อมูลที่มีความทันสมัยและมีข้อมูลรายแปลงที่ดินที่เกิดจากความร่วมมือของคนในชุมชน ส่งผลต่อความตระหนักและบทบาทของทุกภาคส่วนที่จะช่วยกันพัฒนาพื้นที่ ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน เป็นส่วนสร้างการเรียนรู้ร่วมระหว่างหน่วยงานและประชาชนได้อย่างเป็นรูปธรรม

โครงการถัดมาคือ การจัดกลุ่มความหนาแน่นเรือนยอดของพื้นที่จากข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียม LANDSAT-8 ในพื้นที่บ้านปูนะและบ้านบางปะหัน ตำบลเทอดไท อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย

ทางจิสด้าเข้ามามีส่วนร่วมในโครงการนี้เนื่องจาก มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ ขอความอนุเคราะห์ข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมและผู้เชี่ยวชาญแปลภาพดาวเทียมบริเวณพื้นที่โครงการที่มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงดำเนินการอยู่ ในจังหวัดเชียงราย เพื่อนำข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียม และผลการวิเคราะห์จำแนกประเภทป่า การใช้ประโยชน์ที่ดิน และผลการจัดกลุ่มความหนาแน่นของพื้นที่ป่าไม้ ด้วยเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับการกาหนดตำแหน่งวางแปลงในการเก็บข้อมูลปริมาณคาร์บอน และเป็นข้อมูลสนับสนุนในการจัดทาข้อมูลนำเสนอโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานประเทศไทย

พื้นที่สำรวจความหนาแน่นของเรือนยอด

จากการรวบรวมและวิเคราะห์จัดกลุ่มความหนาแน่นเรือนยอดของพื้นที่จากข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียม LANDSAT-8 โดยใช้แบบจำลองการปกคลุมเรือนยอด (Forest Canopy Density : FCD) จากข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียม พบว่า สามารถจัดกลุ่มความหนาแน่นแบ่งเป็น 3 ช่วงชั้น คือ 1) บริเวณพื้นที่ป่าไม้มีความหนาแน่นมาก 2) บริเวณพื้นที่ป่าไม้มีความหนาแน่น ปานกลาง และ 3) บริเวณพื้นที่ป่าไม้มีความหนาแน่นน้อย ซึ่งผลการวิเคราะห์มีค่าอยู่ระหว่าง 20.00 ถึง 95.42 นำไปสู่การวางแผนบริหารจัดการร่วมกับชุมชนและหน่วยงานทุกภาคส่วนระดับพื้นที่ สำหรับการขอขึ้นทะเบียนโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจ ตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction: T-VER)ทั้งนี้ ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่คาดว่าจะลดได้ในระยะเวลาคิดคาร์บอนเครดิต 20 ปี (ปี 2562-2582) โดยหลังจากหมดช่วงระยะเวลาในการคิดเครดิตในปี พ.ศ. 2582 ประชาชนในพื้นที่ก็ยังคงดำเนินโครงการอนุรักษ์ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม เพื่อให้คนอยู่กับป่าไม้ได้อย่างยั่งยืน

แผนที่แสดงผลการวิเคราะห์จัดกลุ่มความหนาแน่นเรือนยอดของพื้นที่จากข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียม LANDSAT-8 โดยใช้แบบจำลองการปกคลุมเรือนยอด
(Forest Canopy Density : FCD) จากข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียม

การตรวจสอบความถูกต้องในพื้นที่จริงร่วมกับชุมชนและหน่วยงาน

                    นอกจากนี้ เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศยังสามารถประยุกต์ใช้สนับสนุนการวางแผน ออกแบบ และตัดสินใจ เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงพื้นที่ ทั้งภาคการเกษตรเพื่อแก้ไขปัญหาและยกระดับรายได้เศรษฐกิจชุมชนบ้านแม่หลุ ต.กองแขก อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ เช่น โครงการเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศเพื่อสนับสนุนการยกระดับคุณภาพชีวิต เศรษฐกิจชุมชนบ้านแม่หลุ

บริบทพื้นที่ชุมชนบ้านแม่หลุ ต.กองแขก อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่

การดำเนินงานร่วมกับชุมชนไม่ใช่เรื่องง่าย การสร้างความเข้าใจ สร้างการเรียนรู้ร่วม รวมถึงต้นแบบรูปธรรมความสำเร็จที่สามารถขยายผลในพื้นที่อื่นๆ ได้ ก็ต้องใช้เวลา ความอดทน และเทคโนโลยีที่น่าเชื่อถือ เป็นวิทยาศาสตร์ และข้อเท็จจริง โดยพื้นที่ชุมชนบ้านแม่หลุนั้น ตระหนักถึงความสำคัญซึ่งเห็นจากการดำเนินงานในพื้นที่ตำบลแม่ศึก ที่สามารถขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาได้ทั้งตำบล จิสด้าจึงเข้ามามีส่วนร่วมที่บ้านแม่หลุ เป็นการเริ่มต้นที่มีคุณค่าและเป้าหมายสำคัญเพื่อการเปลี่ยนแปลงทั้งพื้นที่ และรายได้ของประชาชน การดำเนินงานใช้หลักการเดียวกับพื้นที่ต.แม่ศึก การมีส่วนร่วม บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานทุกภาคส่วนในระดับพื้นที่ตามแนวทางประชารัฐและการจัดการร่วมหลายฝ่าย ร่วมดำเนินงานขับเคลื่อน สนับสนุน ส่งเสริมการสำรวจรังวัดโดยชุมชน เพื่อแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินในเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติแม่แจ่ม มุ่งเน้นการนำกลไก เครื่องมือ/เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ บูรณาการร่วมกับองค์ความรู้ ด้านการบริหารจัดการที่ดิน ทรัพยากรดิน ทรัพยากรป่าไม้ ทรัพยากรน้ำ การจัดการภัยพิบัติ และยกระดับพัฒนาคุณภาพชีวิตเศรษฐกิจฐานของตามวิถีชีวิต วัฒนธรรม ภูมิปัญญา ที่สอดคล้องกับภูมินิเวศน์ ภูมิวัฒนธรรม ที่สมดุลและยั่งยืน

การถ่ายทอดความรู้เรื่องแผนที่และการวางแผนการเดินสำรวจให้กับแกนนำชุมชน

การปรับเปลี่ยนพื้นที่ตามแนวทางศาสตร์พระราชา:โคก หนอง นา โมเดล

เรื่องราวของเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศนั้นเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของเราทุกคนทั้งทางตรง และทางอ้อม นอกจากนี้ ในหลายประเทศทั่วโลกพยายามยกระดับเทคโนโลยีด้านภูมิสารสนเทศให้มีความแม่นยำและสะดวกมากขึ้น เพื่อสนับสนุนส่งเสริมให้คุณภาพของประชากรดีขึ้น สำหรับประเทศไทย จิสด้า มีเป้าหมายเพื่อสร้างความร่วมมือ ร่วมแรง ร่วมใจด้วยข้อมูล ข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์ด้วยเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ ที่จะเป็นกลไกสำคัญต่อการมีส่วนร่วมต่อการแก้ไขปัญหาประเทศทั้งมิติสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม โดยที่ชุมชน ประชาชน สามารถเข้าถึงข้อมูลและเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศได้อย่างทั่วถึง เป็นธรรม และยั่งยืน