จากประวัติศาสตร์ของประเทศไทยเราเชื่อมโยงและติดต่อดินแดนภายนอกมาโดยตลอด ส่งผลให้เกิดการแลกเปลี่ยนมูลค่าในด้านต่าง ๆ ที่เอื้อต่อการพัฒนาประเทศ

หลักฐานต่างๆ ที่นักวิชาการประวัติศาสตร์โบราณคดีค้นพบแสดงให้เห็นว่า “สุวรรณภูมิ” หรือ “สุวัณณภูมิ” หมายถึง แผ่นดินแห่งทองคำที่ครอบคลุมดินแดนตั้งแต่ส่วนที่อยู่เลยจากอินเดียมาจนจรดถึงจีน (Beyond India before China) เป็นพื้นที่ซึ่งปรากฏในเอกสารโบราณว่า เกิดขึ้นมาตั้งแต่สมัยต้นพุทธกาล

ภาพที่ 1 แผนที่แสดงบริเวณที่คาดว่าเป็นดินแดนสุวรรณภูมิ

                         นอกจากนี้ยังมีประชากรอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานแล้วพัฒนาเป็นรัฐอิสระในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นดินแดนที่มีความอุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ และเป็นแหล่งรวบรวมของสินค้ามีค่า ซึ่งเป็นที่ต้องการของพ่อค้าทั่วไปในอดีต

เนื่องด้วยลักษณะภูมิศาสตร์และที่ตั้งอันเหมาะสม ทำให้พื้นที่นี้เป็นทั้งแหล่งรวมอารยธรรมและสะพานเชื่อมการค้า การเดินทางระหว่างโลกตะวันออกและโลกตะวันตกมาตั้งแต่สมัยโบราณจนถึงปัจจุบัน และมีแนวโน้มที่จะดำเนินบทบาทนี้ต่อไปในอนาคต

สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือจิสด้า ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในประเทศไทย จึงได้เสนอโครงการ สุวรรณภูมิ: ภูมิอารยธรรมเชื่อมโยงโลก เป็นโครงการริเริ่มสร้างวัฒนธรรมร่วมตามวิถีแห่งอาเซียน “ASEAN Joint Culture  Initiative Program: The ASEAN Way” โดยการต่อยอดคุณค่าแห่งความสำเร็จของพื้นที่นี้ในคุณค่าหลากมิติ (Multidimensional value) ที่ยังปรากฏร่องรอยทางศิลปวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์และโบราณคดีมาจนถึงปัจจุบัน เพื่อสร้างความเชื่อมโยงแห่งภูมิภาค (Regional Connectivity) สู่การสร้างโอกาสความร่วมมือการพัฒนาเศรษฐกิจ การค้า สังคมและการท่องเที่ยวของดินแดนสุวรรณภูมิหรือภูมิภาคอาเซียนในอนาคต

                 

การทำงานร่วมกันระหว่างจิสด้าและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการศึกษาประวัติความเป็นมาของดินแดนสุวรรณภูมิพบว่า สุวรรณภูมิเชื่อมโยงหลายพื้นที่และหลายช่วงเวลาบนแผนที่ประวัติศาสตร์ ดังนั้น สุวรรณภูมิในมุมมองของจิสด้าคือ สุวรรณภูมิเชื่อมโลกในมิติใหม่ ด้วยคุณค่าทางวัฒนธรรม ที่เป็นรากเหง้า ภูมิปัญญา ประเพณี วิถีชีวิตของชุมชน ประเทศ และภูมิภาค สู่การยกระดับคุณภาพชีวิตของอาเซียน

ในช่วงของการดำเนินโครงการที่ผ่านมา จิสด้า ได้ร่วมมือกับ มหาวิทยาลัยศิลปากร มูลนิธิหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ และกลุ่มนักวิชาการทั้งไทยและต่างประเทศ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย วิทยาลัยศาสนา มหาวิทยาลัยมหิดล และสถาบันถิ่นฐานไทย และได้รวบรวมข้อมูล เพื่อมานำสกัดเป็นข้อมูลเชิงพื้นที่ ด้วยเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ และสังเคราะห์ข้อมูลจนได้เป็นมูลค่าร่วมกัน หรือ “หลักความเจริญของสุวรรณภูมิทั้ง 5 มิติ” ได้แก่

  1. การตั้งถิ่นถานและการเมืองการปกครอง
  2. ภูมิศาสตร์และทรัพยากรธรรมชาติ
  3. วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
  4. การค้าและการบริการเชิงพาณิชย์
  5. ศิลปะวัฒนธรรมและอารยธรรม

จากคุณค่า 5 มิติที่สืบสานความเป็น “สุวรรณภูมิ” ดังกล่าว จึงถือเป็นวาระ (agenda) สำคัญในการนำมาต่อยอดเพื่อสร้าง “วัฒนธรรมร่วม”(Co-culture) ด้านประชาคม สังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ( ASEAN Socio-Cultural Community)

โดยจิสด้ามีบทบาทเป็นหน่วยงานที่สนับสนุนข้อมูลด้านภูมิสารสนเทศ เพื่อนำไปเป็นองค์ความรู้ศึกษาร่วมกับข้อมูลเอกสารทางประวัติศาสตร์ โบราณคดี และข้อมูลบ่งชี้ทางสถิติ ในการจัดทำระบบฐานข้อมูลเชิงพื้นที่ ช่วยให้สามารถแสดงสถานภาพ บทบาท และความเชื่อมโยงด้านการค้า และวัฒนธรรมของสุวรรณภูมิกับประชาคมโลกในอดีตได้ในหลากหลายมุมมอง เป็นประโยชน์ในการกำหนดเป้าหมายภาพอนาคต (Scenarios) ของประเทศไทยและอาเซียนเพื่อสร้างโอกาสให้แก่ประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียนในการเชื่อมสู่ประชาคมโลก

จากคุณค่าของสุวรรณภูมิในอดีตที่ถูกค้นพบชี้ให้เห็นว่าการเชื่อมโยงและเชื่อมต่อกันด้วยวัฒนธรรมของชุมชน ชนเผ่า หรือกลุ่มคนนั้น เป็นสายใยที่ถูกถักทอ และแน่นแฟ้นเป็นอย่างดี จิสด้าจึงเล็งเห็นช่องทางสนับสนุนความเข้มแข็งในการแข่งขันของประเทศในภูมิภาคอาเซียน ด้วยการสร้าง “วัฒนธรรมร่วมสุวรรณภูมิ” ซึ่งมุ่งหวังให้ก่อเกิด เอกลักษณ์ อัตลักษณ์ร่วมของอาเซียน เพื่อเป็นแรงในการผลักดันบทบาทของอาเซียนในเวทีโลกให้มีมากขึ้นต่อไป

ในอนาคต จิสด้ายังคงขยายความร่วมมือไปยังหน่วยงานต่างๆ ทั้ง กรมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม และองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) (อพท.) เพื่อพัฒนาแนวคิดและผลักดันนโยบายให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด