ภัยแล้งเป็นหนึ่งในภัยพิบัติที่ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชนซึ่งเกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง
โดยหนึ่งในวิธีการป้องกันและแก้ปัญหาคือการใช้ข้อมูลจากดาวเทียม

******************************************

ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม ที่ต้องเกื้อกูลและพึ่งพิงทรัพยากรธรรมชาติเพื่อการเพาะปลูก โดยเฉพาะแหล่งน้ำที่กระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ ยิ่งเข้าสู่ยุคที่เกษตรกรต้องผลิตพืชผลทั้งปี ไม่ได้รอช่วงฤดูกาลเพาะปลูกเพียงอย่างเดียว อัตราการใช้น้ำเพื่อการเกษตรก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ในแต่ละปีมีเกษตรกรจำนวนไม่น้อยที่ประสบปัญหา ภัยแล้ง ซึ่งทำให้ไม่มีแหล่งน้ำมากพอที่จะเพาะปลูกทำการเกษตรได้ตามที่ต้องการ ส่งผลกระทบทั้งรายได้และศักยภาพในการผลิตภาคเกษตรให้เพียงพอกับความต้องการของตลาดและการแข่งขันของประเทศ นอกจากนี้ เมื่อเกิดภัยแล้ง จะส่งผลให้ปริมาณน้ำในแหล่งกักเก็บน้ำต่างๆ ในประเทศมีปริมาณไม่เพียงพอให้ประชาชนทั่วไป ทั้งในการอุปโภคบริโภค และภาคการเกษตร  สร้างความเดือดร้อนให้กับผู้คนทุกหย่อมหญ้า เป็นปัญหาที่ประเทศไทยเผชิญมาอย่างยาวนาน

Figure 1 ที่มาภาพ https://gmos.gistda.or.th/?p=6329

เมื่อพิจารณาจากตำแหน่งที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ ประเทศไทยตั้งอยู่ในเขตมรสุมและมีรูปร่างที่ทอดตัวครอบคลุมตั้งแต่ประมาณละติจูดที่ 5 ถึง 21องศาเหนือ ทำให้มีฤดูกาลที่แตกต่างกันสามฤดู แต่ถ้าหากกล่าวถึงในส่วนความเกี่ยวพันกับความเปียกชื้นหรือความแห้งแล้งทางอุตุนิยมวิทยาแล้ว สามารถกล่าวได้ประเทศไทยว่ามีสองช่วงหลัก คือ ช่วงฤดูฝน กับ ช่วงฤดูแล้ง ด้วยเหตุนี้ความแห้งแล้งสำหรับประเทศไทยจึงเป็นเรื่องที่เกิดได้เป็นปกติ

หากพิจารณาเพิ่มเติมถึงการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (Climate Change)ที่กำลังเกิดขึ้นในทุกพื้นที่ของโลก มีส่วนทำให้ความแห้งแล้งในประเทศไทยมีการพัฒนาเป็น ภัยแล้ง อันเป็นภัยพิบัติที่รุนแรงและยากจะหลีกเลี่ยงอยู่บ่อยครั้งจึงเป็นเรื่องสำคัญที่หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนต้องหาทางช่วยกันป้องกันและแก้ปัญหาภัยแล้งให้มีประสิทธิภาพ

Figure 2 ที่มาภาพ https://gmos.gistda.or.th/?p=6329

เครื่องมือที่สำคัญอย่างหนึ่งในการแก้ปัญหาภัยแล้งคือข้อมูลจากดาวเทียมซึ่งสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการจัดทำแบบจำลองเพื่อวิเคราะห์หาพื้นที่แห้งแล้งในประเทศไทย เพื่อเป็นข้อมูลสนับสนุนในการประเมินและติดตามสถานการณ์ภัยแล้ง เพื่อการแก้ปัญหาที่รวดเร็วและตรงจุด

โดยหน่วยงานหลักที่ทำหน้าที่ติดตามความแห้งแล้งของประเทศไทย ได้แก่

  • สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือGISTDA – จิสด้า ที่ทำการประเมินความแห้งแล้งโดยการใช้ข้อมูลจากดาวเทียมสํารวจโลกที่หน่วยงานมีอยู่
  • กรมอุตุนิยมวิทยา ที่สนับสนุนข้อมูลทางอุตุนิยมวิทยาที่เกี่ยวข้อง เช่นค่าดัชนีปริมาณน้ำฝนมาตรฐาน ซึ่งเป็นค่าที่ใช้บ่งชี้ถึงความแห้งแล้ง อุณหภูมิ ที่บ่งชี้ว่าพื้นที่มีความร้อนมากน้อยเพียงใด
  • สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) ที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับปริมาณน้ำฝน ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ และข้อมูลสภาพน้ำในประเทศ เป็นต้น

Figure 3 จิสด้า กับการบูรณาการเชิงพื้นที่เพื่อการตัดสินใจแบบองค์รวม ในการแก้ปัญหาภัยธรรมชาติต่างๆ

ข้อมูลจากหน่วยงานเหล่านี้จะนำมาบูรณาการร่วมกันกับระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GeographicInformation System: GIS) ซึ่งต้องมีการกำหนดพื้นที่สำรวจความแห้งแล้งด้วยดาวเทียมซึ่งเป็นข้อมูลที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัย สำนักงานคณะกรรมการน้ำแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้คำแนะนำ และรับข้อมูลจากดาวเทียมสำรวจโลก มาเทียบเคียงกับค่าดัชนีต่างๆ ที่ได้กล่าวไปข้างต้น เพื่อชี้วัดว่ามีพื้นที่ใดประสบภัยแล้งอยู่บ้าง จากนั้นจึงนำข้อมูลที่ได้มาสร้างแบบจำลองโดยใช้เทคนิคซ้อนทับแผนที่และประมวลผลออกมาเป็นแผนที่ภาวะความแห้งแล้งของประเทศ โดยจะมีการแบ่งค่าความเสี่ยงในการเกิดภัยแล้งออกเป็น 4 ระดับ คือ เสี่ยงมาก เสี่ยงปานกลาง เสี่ยงน้อย และไม่เสี่ยง

อย่างไรก็ตาม สภาวะการเกิดความแห้งแล้งจะปรากฏขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป และมีการกระจายตัวในเชิงพื้นที่ ไม่ได้ส่งผลเด่นชัดเช่นเดียวกับการเกิดภัยน้ำท่วม ดังนั้นจึงต้องมีการเก็บข้อมูลและจัดทำแผนที่ความแห้งแล้งเพื่อรายงานในทุก 7 วันอยู่เสมอ

(คำบรรยาย แผนที่แบบต่างๆ ที่ใช้ในการประเมินสถานการณ์ภัยแล้ง จัดทำโดยจิสด้า )

นอกจากแผนที่ภาวะความแห้งแล้ง จิสด้ามีการจัดทำแผนที่อื่นๆ ซึ่งใช้เพื่อการวิเคราะห์และเฝ้าระวังภัยแล้ง เช่น แผนที่ข้อมูลความชื้นดิน  แผนที่ปริมาณน้ำเหลือในประเทศไทย เพื่อให้มีข้อมูลในการวิเคราะห์แนวโน้มการเกิดภัยแล้งได้อย่างรอบด้าน จากนั้นจิสด้า จะส่งข้อมูลนี้ไปยังรัฐบาลหรือหน่วยงานที่ทำหน้าที่ออกนโยบายดำเนินการป้องกันและแก้ปัญหาภัยแล้งไปยังประชาชนในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศไทย โดยข้อมูลเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของการบริหารจัดการน้ำทั้งประเทศแบบบูรณาการ อันเป็นการใช้ข้อมูลทางด้านภูมิศาสตร์ช่วยเหลือการพัฒนาประเทศให้ได้มากที่สุด ซึ่งเป็นภารกิจหลักที่สำคัญของจิสด้า

การเข้าถึงข้อมูลแหล่งน้ำของประชาชนทั่วไป

Figure 4 สร้างระบบการติดตามสถานการณ์แหล่งน้ำในรูปแบบ web application ให้บริการข้อมูลโดยจิสด้า

เนื่องด้วยข้อมูลด้านแหล่งน้ำมีความสำคัญต่อทุกคน จิสด้าจึงสร้างระบบการติดตามสถานการณ์แหล่งน้ำในรูปแบบ web application ที่เว็บไซต์ https://water.gistda.or.th ซึ่งให้บริการข้อมูลปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยสูงสุด ในแต่ละพื้นที่ของประเทศไทย จำนวนและปริมาณแหล่งน้ำ ปริมาตรน้ำในแหล่งน้ำขนาดเล็ก อ่างเก็บน้ำ และเขื่อนต่างๆ เพื่อให้เป็นฐานข้อมูลในการวิเคราะห์สถานการณ์น้ำในรูปแบบต่างๆ และเปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้าถึงข้อมูลเพื่อเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำ ทั้งภัยน้ำท่วมและภัยแล้ง

แน่นอนว่ามนุษย์ไม่อาจหลีกเลี่ยงภัยธรรมชาติ ทำได้เพียงเฝ้าระวัง ป้องกัน และบรรเทาความเสียหายที่เกิดขึ้นโดยใช้เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศร่วมกับข้อมูลด้านอื่นๆ เพื่อร่วมกันผ่านวิกฤตภัยธรรมชาติต่างๆ ไปได้อย่างราบรื่น