12 กันยายน 2562 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ อว. โดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือจิสด้า เปิดตัวระบบบูรณาการเชิงพื้นที่เพื่อการตัดสินใจแบบองค์รวม หรือ จีมอส (G-MOS) ในการเชื่อมโยงและนำเสนอข้อมูลเชิงพื้นที่หลายมิติ อาทิ ด้านสังคม ด้านป่าไม้ ด้านเกษตร ด้านภัยพิบัติ รวมถึงด้านทะเลและชายฝั่ง โดยนำข้อมูลภูมิสารสนเทศในบริบทต่างๆ มาสนับสนุนการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อยกระดับบูรณาการและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศเชิงพื้นที่แบบองค์รวมที่ทันสมัยและสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายและรวดเร็ว ณ โรงแรมอโนมาแกรนด์ กรุงเทพฯ

นายตติยะ ชื่นตระกูล ปฏิบัติงานรองผู้อำนวยการจิสด้า กล่าวว่า การพัฒนาระบบบูรณาการเชิงพื้นที่เพื่อการตัดสินใจแบบองค์รวมในครั้งนี้เป็นความท้าทายที่สำคัญในการพัฒนาและยกระดับประเทศไทยให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยเฉพาะการบูรณาการเทคโนโลยีให้เหมาะสมกับศักยภาพของทรัพยากรที่มีอยู่ในพื้นที่และชุมชนท้องถิ่น สนับสนุนการวิจัย ความรู้ ทั้งด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมถึงการพัฒนาระบบกลไก การบริหารจัดการในระดับพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชน สามารถใช้ฐานข้อมูลที่มีอย่างมหาศาล (บิ๊กดาต้า) ในการการเชื่อมโยงการจัดการรวมถึงการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพผลผลิตรวมทั้งร่วมแก้ไขปัญหาเชิงพื้นที่ ทั้งระบบได้อย่างลงตัว อีกทั้งยังสามารถบูรณาการร่วมกับส่วนนโยบาย ยุทธศาสตร์ ชุดข้อมูล ดัชนีชี้วัดต่าง ๆ ที่มีผลต่อความเป็นอยู่ คุณภาพชีวิตและความสมดุลของระบบนิเวศ ที่จะแสดงผลในรูปแบบของแผนที่ และข้อมูลสถิติที่เข้าใจง่าย เพื่อนำไปประยุกต์ใช้แก้ไขปัญหาได้ตรงจุด รวดเร็ว แม่นยำ โปร่งใส ยุติธรรมในการสร้างการมีส่วนร่วม และการพัฒนาที่ยั่งยืนตามคำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีในด้านการพัฒนาประเทศ โดยเน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัย พัฒนาและนวัตกรรม

นอกจากนี้ ภายในงานยังมีการสาธิตและให้คำแนะนำการเข้าถึงการใช้งานระบบ G-MOS ที่แสดงผลแผนที่ต่างๆ รวมทั้งการเข้าถึงข้อมูลผ่านแผนที่ การเรียกดูสถิติข้อมูลภาพรวม การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก เช่น การประเมินมูลค่า ความเสียหายและพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ตำแหน่งจุดความร้อน ที่ส่งผลกระทบต่อการใช้ประโยชน์ที่ดิน การประเมินมูลค่าทางเศรษฐกิจ ในพื้นที่เปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงชายฝั่ง 23 จังหวัด เป็นต้น เพื่อนำไปประยุกต์ใช้งานและบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพ นายตติยะฯ กล่าว