เมื่อวันที่ 19 ก.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บริเวณบ้านง้อ ริมถนนสายศรีสะเกษ – ยางชุมน้อย ต.น้ำคำ อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ นายสว่าง กาลพัฒน์ เกษตรจังหวัดศรีสะเกษ และคณะ ได้เดินทางไปสำรวจความเสียหายของไร่นาที่ถูกน้ำท่วมมานานกว่า 2 สัปดาห์แล้ว ซึ่งพบว่า ไร่นาของเกษตรกรยังคงมีน้ำท่วมเป็นบริเวณกว้าง นาข้าวของชาวบ้านยังคงจมอยู่ใต้น้ำ ต้นข้าวเน่าตายเสียหายจำนวนมาก เนื่องจากว่ามวลน้ำจำนวนมากจากแม่น้ำมูลไหลทะลักเข้าไปท่วมไร่นาของเกษตรกรโดยที่ชาวบ้านไม่สามารถที่จะแก้ไขปัญหาได้ ขณะที่ชาวนาต้องพากันเปลี่ยนอาชีพจากการทำนาเป็นอาชีพทำการประมงหาปลามาเลี้ยงตนเองและครอบครัวในช่วงที่ถูกน้ำท่วมไร่นาอยู่ในขณะนี้

นายสว่าง กาลพัฒน์ เกษตรจังหวัดศรีสะเกษ กล่าวว่า จากการสำรวจเขตพื้นที่ ต.น้ำคำ อ.เมืองศรีสะเกษ พบว่า 15 หมู่บ้าน มีพื้นที่เสียหายจากการถูกน้ำท่วมแล้ว 14 หมู่บ้าน ประมาณ 7,000 ไร่เศษ โดย จ.ศรีสะเกษ มีพื้นที่ทำนาทั้งหมด 320,000 ไร่ โดยจากการที่ได้รับรายงานเบื้องต้นทราบว่า 11 อำเภอ 73 ตำบล 556 หมู่บ้าน มีรายงานพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมทั้งหมด 140,000 ไร่เศษ คาดว่าจะเสียหายอย่างสิ้นเชิงจำนวน 120,000 ไร่ ในส่วนของ จ.ศรีสะเกษเอง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ภายใต้การขับเคลื่อนของ ท่านเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และท่านนายสำราญ สาราบรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ได้เร่งรัดให้สำนักงานเกษตรจังหวัดดำเนินการสำรวจและเยียวยาช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบภัยธรรมชาติ และในพื้นที่ จ.ศรีสะเกษ ท่านวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผวจ.ศรีสะเกษ พยายามที่จะให้ส่วนราชการในสังกัดกระทรวงเกษตรกรและสหกรณ์ได้ไปดูแลความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนที่ประสบภัยธรรมชาติน้ำท่วม เยียวยาให้พี่น้องเกษตรกรสามารถมีรายได้ให้เร็วที่สุด

นายสว่าง กล่าวต่อไปว่า ในส่วนนี้ตนได้ดำเนินการจัดทำโครงการช่วยเหลือและอีกส่วนหนึ่งในเรื่องจะดำเนินการ KICK OFF โครงการจิตอาสากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ใน จ.ศรีสะเกษ เราจะดำเนินการในวันที่ 23 ก.ย. 62 โดยจะดำเนินการพร้อมกันทั้งประเทศ จะมีการเร่งรัดใน 8 เรื่อง ในการช่วยเหลือเกษตรกรเช่น การสำรวจช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรให้เร็วที่สุด โดยท่าน รมว.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะเร่งรัดให้แล้วเสร็จภายใน 1 อาทิตย์หลังจากน้ำลดลงแล้ว ซึ่งการช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรที่ประสบภัยธรรมชาติด้านพืช ด้านข้าว ไร่ละ 1,113 บาท พืชไร่ ๆ ละ 1,148 บาท ส่วนสวนและพืชผักอื่น ๆ ไร่ละ 1,690 บาท ในส่วนของ จ.ศรีสะเกษ จะมีไร่มันสำปะหลังอยู่ประมาณ 1,800 ไร่ นาข้าว 116,000 ไร่เศษ สวนยางพารา 300 ไร่ อ้อย 10 ไร่ ข้าวโพด 4 ไร่ พืชไร่อื่น ๆ อีก 100 ไร่ โดยในส่วนของลูกค้า ธกส.หรือเกษตรกรทั่วไป ที่มีความประสงค์ที่จะประกันภัยพืชผลการเกษตรในเรื่องข้าว เสียค่าประกันภัยไร่ละ 85 บาท ได้รับเงินชดเชยไร่ละ 1,260 บาท และในเรื่องของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เสียค่าประกันภัยไร่ละ 59 บาท ได้รับเงินชดเชยไร่ละ 1,500 บาท ซึ่งคาดว่า จะต้องใช้เงินในการเยียวยาช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบภัยน้ำท่วม จ.ศรีสะเกษ ประมาณ 300 ล้านบาท ซึ่งได้เสนอของบประมาณไปรัฐบาลเรียบร้อยแล้ว ขอให้เกษตรกรที่ประสบภัยน้ำท่วมสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานเกษตรอำเภอที่มีภูมิลำเนาอยู่

สถานที่เกิดเหตุการณ์
บ้านง้อ ริมถนนสายศรีสะเกษ – ยางชุมน้อย ต.น้ำคำ อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ
กลุ่มเหตุการณ์
ด้านเกษตร
ประเภทเหตุการณ์
ค่าชดเชย
แหล่งข่าว
มติชนออนไลน์
ความถูกต้องของตำแหน่ง
มาก