สถานการณ์น้ำอุปโภคและบริโภคใน จ.สุรินทร์ วิกฤต อ่างเก็บน้ำห้วยเสนงขาดแคลนน้ำ

รายงานสถานการณ์น้ำอุปโภคและบริโภคใน จ.สุรินทร์ ปัจจุบันพบว่าขาดแคลนอย่างหนัก เนื่องจากพื้นที่ป่าต้นน้ำในเขตป่าอนุรักษ์ที่เป็นแหล่งเก็บกัก และชะลอการไหลของน้ำบนป่าต้นน้ำนั้น มีพื้นที่เหลือน้อยมาก ประมาณ 27,000 ไร่ (เฉพาะป่าต้นน้ำของ จ.สุรินทร์) จึงทำให้ไม่มีน้ำเติมเต็ม และน้ำไหลตลอดทั้งปี ที่สำคัญพื้นที่รองรับน้ำ เช่น อ่างเก็บน้ำหรือเขื่อนมีขนาดเล็กและน้อยมาก จึงเป็นปัญหาการขาดแคลนน้ำใช้อุปโภคและบริโภค ทุกวันนี้

ซึ่งพื้นที่ป่าอนุรักษ์ในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ ที่อยู่ในความดูแลรับผิดชอบของสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 9 (อุบลราชธานี) มีจำนวนทั้งสิ้น 3 แห่ง ได้แก่
– วนอุทยานป่าสนหนองคู เนื้อที่ 6,250 ไร่
– วนอุทยานพนมสวาย เนื้อที่ 2,475 ไร่ และ
– เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยทับทัน-ห้วยสำราญ เนื้อที่ 313,750 ไร่

แต่ทั้งหมดนี้ไม่ใช่ป่าต้นทุนน้ำ หรือ ป่าต้นน้ำ ที่ไหลไปใช้ใน จ.สุรินทร์ ทั้งหมด

จ.สุรินทร์ จะมีป่าต้นน้ำที่ไหลไปอ่างเก็บน้ำห้วยเสนง ประมาณ 27,000 ไร่ โดย จ.สุรินทร์ เป็นพื้นที่ที่อยู่ในลุ่มน้ำมูล และมีลุ่มน้ำสาขา จำนวน 3 สาย ได้แก่

1. ห้วยทับทัน มีพื้นที่ป่าต้นน้ำ 149,739 ไร่ ซึ่งให้ปริมาณน้ำท่าเฉลี่ย 33.78 ล้าน ลบ.ม./ปี
2. ห้วยสำราญ มีพื้นที่ป่าต้นน้ำ 93,023 ไร่ ซึ่งให้ปริมาณน้ำท่าเฉลี่ย 20.98 ล้าน ลบ.ม./ปี
3. ลำน้ำชี มีพื้นที่ป่าต้นน้ำ 76,007 ไร่ ซึ่งให้ปริมาณน้ำท่าเฉลี่ย17.14 ล้าน ลบ.ม./ปี

ซึ่งลุ่มน้ำสาขาทั้ง 3 สาย มีต้นน้ำมาจากพื้นที่ป่าอนุรักษ์เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยทับทัน-ห้วยสำราญ ซึ่งน้ำเหล่านี้จะถูกลำเลียงไปตามธรรมชาติ เพื่อกักเก็บในแม่น้ำลำธาร ตลอดจนอ่างเก็บน้ำของจังหวัดสุรินทร์ ซึ่งอ่างเก็บน้ำที่อยู่ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์มีจำนวน 12 แห่ง ได้แก่

1. อ่างเก็บน้ำห้วยจำเริง ที่มีพื้นที่ป่าต้นน้ำ 15,672 ไร่ ซึ่งผลิตปริมาณน้ำท่าให้อ่างได้เฉลี่ย 3.54 ล้าน ลบ.ม./ปี (ปัจจุบัน ประตูอ่างเก็บน้ำห้วยจำเริงชำรุด )
2. อ่างเก็บน้ำตาเกาว์ บรรจุน้ำได้ 8.6 ล้าน ลบ.ม. มีพื้นที่ป่าต้นน้ำ 18,241 ไร่ ซึ่งผลิตปริมาณน้ำท่าให้อ่างได้เฉลี่ย 4.11 ล้าน ลบ.ม./ปี
3. อ่างเก็บน้ำห้วยด่าน บรรจุน้ำได้ 9.4 ล้าน ลบ.ม. ที่มีพื้นที่ป่าต้นน้ำ 13,827 ไร่ ซึ่งผลิตปริมาณน้ำท่าให้อ่างได้เฉลี่ย 3.12 ล้าน ลบ.ม./ปี
4. อ่างเก็บน้ำห้วยเชิง บรรจุน้ำได้ 8.0 ล้าน ลบ.ม. ที่มีพื้นที่ป่าต้นน้ำ 15,672 ไร่ ซึ่งผลิตปริมาณน้ำท่าให้อ่างได้เฉลี่ย 4.61 ล้าน ลบ.ม./ปี
5. อ่างเก็บน้ำขนาดมอญ บรรจุน้ำได้ 15.5 ล้าน ลบ.ม. ที่มีพื้นที่ป่าต้นน้ำ 29,081 ไร่ ซึ่งผลิตปริมาณน้ำท่าให้อ่างได้เฉลี่ย 6.56 ล้าน ลบ.ม./ปี
6. อ่างเก็บน้ำคะนา ที่มีพื้นที่ป่าต้นน้ำ 7,379 ไร่ ซึ่งผลิตปริมาณน้ำท่าให้อ่างได้เฉลี่ย 1.66 ล้าน ลบ.ม./ปี
7. อ่างเก็บน้ำกะเลงเวก บรรจุน้ำได้ 3.4 ล้าน ลบ.ม. ที่มีพื้นที่ป่าต้นน้ำ 24,048 ไร่ ซึ่งผลิตปริมาณน้ำท่าให้อ่างได้เฉลี่ย 5.42 ล้าน ลบ.ม./ปี
8. อ่างเก็บน้ำเสียดจะเอิง บรรจุน้ำได้ 0.18 ล้าน ลบ.ม. ที่มีพื้นที่ป่าต้นน้ำ 5,821 ไร่ ซึ่งผลิตปริมาณน้ำท่าให้อ่างได้เฉลี่ย 1.31 ล้าน ลบ.ม./ปี
9. อ่างเก็บน้ำจรัส บรรจุน้ำได้ 15 ล้าน ลบ.ม. มีพื้นที่ป่าต้นน้ำ 38,487 ไร่ ซึ่งผลิตปริมาณน้ำท่าให้อ่างได้เฉลี่ย 8.68 ล้าน ลบ.ม./ปี
10. อ่างเก็บน้ำทำนบ บรรจุน้ำได้ 12 ล้าน ลบ.ม. มีพื้นที่ป่าต้นน้ำ 27,122 ไร่ ซึ่งผลิตปริมาณน้ำท่าให้อ่างได้เฉลี่ย 6.12 ล้าน ลบ.ม./ปี
11. อ่างเก็บน้ำห้วยสำราญ บรรจุน้ำได้ 17.5 ล้าน ลบ.ม. มีพื้นที่ป่าต้นน้ำ 36,726 ไร่ ซึ่งผลิตปริมาณน้ำท่าให้อ่างได้เฉลี่ย 8.28 ล้าน ลบ.ม./ปี
12. อ่างเก็บน้ำห้วยเจรียว มีพื้นที่ป่าต้นน้ำ 1,395 ไร่ ซึ่งผลิตปริมาณน้ำท่าให้อ่างได้เฉลี่ย 0.31 ล้าน ลบ.ม./ปี

ทั้งนี้ อ่างเก็บน้ำที่เป็นแหล่งสาธารณูปโภคที่สำคัญของชาวสุรินทร์ที่กำลังประสบปัญหาขาดแคลนน้ำคือ อ่างเก็บน้ำห้วยเสนง ซึ่งเป็นอ่างเก็บน้ำที่อยู่นอกพื้นที่ป่าอนุรักษ์ แต่มีแหล่งต้นน้ำมาจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยทับทัน-ห้วยสำราญ โดยพื้นที่ป่าต้นน้ำของห้วยเสนงมีประมาณ 27,000 ไร่ ซึ่งมีปริมาณน้อยมากเมื่อเทียบกับพื้นที่ลุ่มน้ำห้วยเสนงทั้งหมด (คิดเป็นร้อยละ 8.68 ของพื้นที่ลุ่มน้ำ) และอ่างเก็บน้ำอยู่ห่างจากป่าต้นน้ำประมาณ 50-70 กิโลเมตร ซึ่งปริมาณน้ำท่าที่มาถึงอ่างเก็บน้ำห้วยเสนงโดยเฉลี่ยประมาณ 6.09 ล้าน ลบ.ม./ปี (โดยคำนวณจาก ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยรายปี 1,464.70 มม./ปี ) โดยในอดีตพื้นที่ป่าต้นน้ำห้วยเสนงเคยมีความอุดมสมบูรณ์อย่างมากและเป็นพื้นป่าต่อเนื่องที่มีขนาดใหญ่ แต่ปัจจุบันพื้นที่มีการถูกจัดการที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้เหลือพื้นที่ต้นน้ำของห้วยเสนงอยู่เพียง 27,000 ไร่

ข้อมูลพื้นฐาน
1. เขตรักษาพันธสัตว์ป่าห้วยทับทัน-ห้วยสำราญ มีเนื้อที่ 313,445 ไร่ ถือเป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำ ทั้ง 3 ลุ่มน้ำสาขา (ลุ่มน้ำสาขาลำชี ลุ่มน้ำสาขาหัวยทับทัน และลุ่มน้ำสาขาห้วยสำราญ)
2. ลุ่มน้ำห้วยเสนงมีพื้นที่ 497.735 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 311,084.37 ไร่ มีป่าต้นน้ำอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยทับทัน-ห้วยสำราญ 27,024 ไร่ คิดเป็น 8.68 เปอร์เซ็นต์ ของพื้นที่ลุ่มน้ำ
3. พื้นที่ทั้งหมดในป่าอนุรักษ์เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยทับทัน-ห้วยสำราญ สามารถกักเก็บน้ำในดินได้ 162,403,242.43 ลบ.ม./ปี

ให้น้ำท่า
– ปี 2560 = 71,902,746.96 ลบ.ม./ปี
– ปี 2561 = 40,080,860.12 ลบ.ม./ปี
– ปี 2562 = 45,456,752.67 ลบ.ม./ปี
ให้น้ำใต้ดิน
– ปี 2560 = 150,762,318.14 ลบ.ม./ปี
– ปี 2561 = 84,039,673.58 ลบ.ม./ปี
– ปี 2562 = 95,311,593.74 ลบ.ม./ปี

ข้อเท็จจริง
ปริมาณการกักเก็บน้ำในแต่ละอ่างเก็บน้ำลดลงเพราะ
1. ปริมาณน้ำฝนในปี พ.ศ. 2561 มีปริมาณ 816.47 มม. ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของจังหวัดสุรินทร์ (มีปริมาณ 1,286.92 มม.) และฝนปลายปี มีปริมาณน้อย
2. ขณะที่ปี พ.ศ. 2562 (ถึง 15 ส.ค. 2562) วัดได้ 925.89 มม. สูงกว่าปี พ.ศ. 2561 คาดฝนทิ้งช่วงห่างเป็นระยะทำให้ปริมาณน้ำท่าน้อยลง
3. อ่างเก็บห้วยเสนงอยู่ห่างจากป่าต้นน้ำ 48.18 กม. (ในทางตรง) เกิดการสูญเสียน้ำท่า โดย
– การระเหยของน้ำที่ออกจากป่ามีปริมาณมาก เนื่องจากคลื่นความร้อนอุณภูมิสูง
– การไหลผ่านของน้ำเป็นไปอย่างรวดเร็ว เนื่องจากไม่มีสิ่งปกคลุมริมห้วยและป้องกันลม

แนวทางการแก้ไข
ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์​ เพิ่มศักยภาพในการกักเก็บน้ำ​ ได้แก่​
– สร้างฝายชะลอน้ำ​ เพื่อเพิ่มความชุ่มชื่นในพื้นที่ป่า​ ชะลอการไหลของน้ำและกักเก็บตะกอน
– ปลูกหญ้าแฝก​ ในพื้นที่ลาดชัน​ 2​ ฝั่งลำห้วย​ เพื่อลดการพังทะลายของดิน​ลงสู่แหล่งน้ำตอนล่าง​
– เดิมป่าต้นน้ำของห้วยเสนง​ เป็นป่า​ 4​ ชั้น​เรือนยอด​ (จากการศึกษาวิจัย)​ ควรมีการปลูกฟื้นฟูและมีการจัดการให้เป็นป่าที่มีอย่างน้อย​ 5​ เรือนยอด​ขึ้นไป​ ตามแนวทางการปลูกเสริมป่าของสำนักอนุรักษ์และจัดการต้นน้ำ​

ชุมชนรอบพื้นที่ป่าอนุรักษ์
– ส่งเสริมให้มีการปลูกป่า​ 3​ อย่าง ประโยชน์​ 4​ อย่าง​ เพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำ​ ตามศาสตร์พระราชา​
– ส่งเสริมการปลูกไม้กินได้บริเวณ​ 2​ ฝั่งลำห้วย​ เพื่อลดการพังทะลายของดิน​
– ส่งเสริมและให้ความรู้ในการจัดการป่าชุมชน​ เพื่อลดการพึงพิงป่าอนุรักษ์​ และเป็นแหล่งอาหารของชุมชน
หาแหล่งน้ำหรือ สร้างอ่างเก็บน้ำ ขนาดเล็ก ตามขอบเขตชายป่าอนุรักษ์ หลายๆแห่ง ก่อนที่น้ำจะไหลออกไป จากพื้นที่ป่า

สถานที่เกิดเหตุการณ์
อ่างเก็บน้ำห้วยเสนง จังหวัดสุรินทร์
กลุ่มเหตุการณ์
ด้านภัยพิบัติ
ประเภทเหตุการณ์
น้ำท่วม/น้ำแล้ง
แหล่งข่าว
อีจัน
ความถูกต้องของตำแหน่ง
มาก