วันจันทร์ ที่ 4 มีนาคม ถึง ศุกร์ ที่ 8 มีนาคม 2562 ทาง GISTDA ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบความถูกต้องของผลการวิเคราะห์จุดการเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่ป่าชายเลน จังหวัดจันทบุรี และจังหวัดตราด โดยการคัดเลือกจุดเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าไม้ จากกระบวนการเปรียบเทียบภาพถ่ายดาวเทียมสองช่วงเวลา นำมาหาค่าความต่างของดัชนีพืชพรรณ (NDVI) ออกมาในรูปแบบจุด เพื่อเป็นการชี้เป้าให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เข้าไปตรวจสอบบริเวณที่ชี้เป้าดังกล่าว ว่ามีการเปลี่ยนแปลงพื้นที่จากเดิมหรือไม่ โดยครั้งนี้เน้นบริเวณพื้นที่ป่าชายเลน พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ และพื้นที่อนุรักษ์ในจังหวัดจันทบุรี และจังหวัดตราด เพื่อเข้าตรวจสอบ และศึกษาประเด็นเพิ่มเติมกับเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานราชการ เรื่องการขอใช้พื้นที่ป่า เพื่อนำมาช่วยในการคัดกรองการวิเคราะห์จุดต้องสงสัยบุกรุก

จากการเข้าสำรวจพื้นที่ทั้งหมด 32 จุด ได้ทำการเก็บข้อมูลทางด้านภายภาพ พร้อมเปรียบเทียบข้อมูลภาพดาวเทียมก่อน – หลัง 2 ช่วงเวลา และใช้ภาพดาวเทียม Planet ปัจจุบัน มาช่วยดูสภาพพื้นที่ โดยมีรายละเอียดการเก็บข้อมูลดังต่อไปนี้

  1. ทำการนำทางไปยังจุดเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าไม้ ที่ได้คัดเลือกไว้แล้ว โดยอาศัยการคำนวณพื้นที่โดยใช้ GIS และเปรียบเทียบลักษณะการเป็นกลุ่มก้อนของการกระจายตัวของพื้นที่ป่าฟื้นฟู ชนิดของป่า และแนวเขตป่าตามกฎหมาย เป็นข้อมูลประกอบในการตัดสินใจในการเลือกพื้นที่เพื่อลงพื้นที่ตรวจสอบ
  2. เข้าสำรวจพื้นที่ โดยการเดินเท้าตาม GPS ที่นำทางไปยังจุดเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าไม้ (ในกรณีที่สามารถเดินเท้าเข้าไปได้) พร้อมตรวจสอบสภาพพื้นที่โดยใช้ App G-FMS เปรียบเทียบกับข้อมูลในระบบภูมิสารสนเทศที่ทำการวิเคราะห์ไว้แล้วในโปรแกรม ArcMap  ว่าตรงกันหรือไม่

จากผลการสำรวจ พบว่า พื้นที่ส่วนใหญ่ถูกเปลี่ยนไปเป็นพื้นที่ใช้ประโยชน์ จากทั้งหมด 32 จุด ที่เข้าสำรวจ พบว่าพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ส่วนบุคคล ทำให้ไม่สามารถเข้าพื้นที่ลงไปสำรวจได้มีทั้งหมด 16 จุด ส่วนอีก 16 จุดที่ลงพื้นที่เข้าสำรวจ พบว่าเป็นพื้นที่ขออนุญาต อาทิเช่น การขุดสระน้ำ การขุดลอกคลอง การปรับพื้นที่ มีทั้งหมด 4 จุด และพบว่าเป็นปลูกสวนปาล์มตั้งแต่เริ่มปลูก – โต ทั้งหมด 4 จุด รองลงมาเป็นพื้นที่เกษตรอื่นๆ ทั้งหมด 3 จุด เป็นรีสอร์ทที่ยังสร้างไม่เสร็จ 2 จุด เป็นพื้นที่ที่เคยเป็นพื้นที่บุกรุกเก่า ในปัจจุบันคืนสภาพเป็นทุ่งหญ้า ทั้งหมด 2 จุด และเป็นพื้นที่เปิดโล่งใหม่ จำนวน 1 จุด อีกทั้งยังได้เข้าสอบถามเจ้าหน้าที่ศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาทรัพยากรป่าชายเลนที่ 1 ตราด เกี่ยวกับข้อมูลลักษณะป่าชายเลน รวมถึงการเพิ่มขึ้นลดลงของพื้นที่ป่าชายเลน

เมื่อตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลจุดพื้นที่ป่าเปลี่ยนแปลง พบว่าข้อมูลที่ได้ทำการวิเคราะห์จากระบบภูมิสารสนเทศนั้น มีความถูกต้องของข้อมูลรวมทั้งหมด 50% ซึ่งพื้นที่สำรวจส่วนมาก พบเป็นพื้นที่เปลี่ยนแปลงแล้ว เนื่องจากใช้ข้อมูลที่วิเคราะห์จากปี 2560-2561 ทำให้ในพื้นที่สำรวจพบการทำกิจกรรมในพื้นที่ดังกล่าวไปแล้ว ซึ่งเป็นปัญหาและอุปสรรคในการเข้าสำรวจพื้นที่ดังกล่าวเนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ส่วนบุคคล เขตหวงห้าม และพื้นที่ติดชายแดน ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อตัวผู้ปฏิบัติงานเอง