กำจัดไมโครพลาสติก โดยใช้ “กระเจี๊ยบเขียว”

ไมโครพลาสติก (microplastics) คืออนุภาคพลาสติกที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางเล็กกว่า 5 มิลลิเมตร มาจากการย่อยสลายหรือแตกหักจากขยะพลาสติกชิ้นใหญ่ กำลังเป็นปัญหาเรื้อรังของโลก บรรดาอนุภาคไมโครพลาสติกเดินทางไปแทบจะทุกพื้นที่ทั้งทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ เข้าสู่วงจรชีวิต เช่น ปลาที่ได้รับอนุภาคพลาสติกเข้าไปก็จะมีอันตราย เช่น ถูกรบกวนระบบสืบพันธุ์ไปจนถึงการเจริญเติบโตที่ปลาอาจแคระแกร็น ตับถูกทำลาย

นักวิทยาศาสตร์จำนวนมากพยายามคิดหาวิธีจัดการกับไมโครพลาสติกมาอย่างต่อเนื่อง และก็พบวิธีการหลากหลาย ล่าสุดทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยทาร์ลตัน ในรัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา ได้ค้นพบวิธีหนึ่งที่น่าสนใจก็คือการกำจัดไมโครพลาสติกโดยใช้สารสกัดจากพืช เป็นทางเลือกแทนสารเคมีสังเคราะห์ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพได้ นักวิจัยมองไปที่สารสกัดจากกระเจี๊ยบเขียวและพืชมีเมือกอื่นๆ เช่น ว่านหางจระเข้ กระบองเพชร ลูกซัด (fenugreek) มะขาม เทียนเกล็ดหอย ว่าจะสามารถช่วยกำจัดไมโครพลาสติกที่เป็น อันตรายออกจากน้ำเสียได้หรือไม่

ทีมจึงทดสอบ “กระเจี๊ยบเขียว” (okra) โดยตรวจสอบที่กลุ่มของคาร์โบไฮเดรต อย่าง โพลีแซ็กคาไรด์ (poly saccharides) จากพืชแต่ละชนิด แล้วก็พบว่าโพลีแซ็กคาไรด์จากกระเจี๊ยบเขียวที่จับคู่กับลูกซัด สามารถกำจัดไมโครพลาสติกออกจากน้ำทะเลได้ดีที่สุด ในขณะที่โพลีแซ็กคาไรด์จากกระเจี๊ยบเขียวที่จับคู่กับมะขามจะทำงานได้ดีที่สุดในตัวอย่างน้ำจืด นักวิจัยจึงคาดหวังว่ากระบวนการทดลองนี้จะขยายขนาดไปในเชิงพาณิชย์ ช่วยให้สามารถเข้าถึงน้ำดื่มที่สะอาดและปลอดภัยยิ่งขึ้นในอนาคต.

♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦

แหล่งข่าว