สนข.เทงบ 95 ล้านบาท ลุยสำรวจออกแบบถนนเลียบทะเลใต้ฝั่งอันดามัน “ระนอง -สตูล” กว่า 600 กม.หนุนท่องเที่ยว 6 จังหวัด “ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง สตูล” ศึกษา 18 เดือน เริ่ม ต.ค. 65 เพิ่มเส้นทางเชื่อมแหล่งท่องเที่ยว

นายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยว่า การประชุม ครม. เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2564 ได้มอบกระทรวงคมนาคมศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาเส้นทางถนนเพื่อการท่องเที่ยวเลียบชายฝั่งอันดามัน โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ได้มอบหมายให้ สนข.ดำเนินโครงการศึกษาความเหมาะสมและสำรวจออกแบบเบื้องต้นเส้นทางท่องเที่ยวเลียบชายฝั่งทะเลภาคใต้ฝั่งอันดามัน ครอบคลุมพื้นที่ 6 จังหวัด ได้แก่ ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ตรัง และสตูล ระยะทาง 600 กม.

โดย สนข.ได้เสนอตั้งงบประมาณปี 2566  วงเงิน 95 ล้านบาท ในการดำเนินการศึกษาวิเคราะห์ความเหมาะสมทางวิศวกรรมเศรษฐกิจ การเงิน และสิ่งแวดล้อม การพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวเลียบชายฝั่งทะเลอันดามัน (ช่วงจังหวัดระนอง-จังหวัดสตูล) โดยจัดทำแบบเบื้องต้น (Preliminary Design) และรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (IEE) ระยะเวลาศึกษา 18 เดือน คาดว่าเริ่มศึกษาเดือน ต.ค. 2565

หลักการรูปแบบ จะเป็นถนนขนาด 2 ช่องจราจร มีไหล่ทางกว้าง เพื่อการท่องเที่ยว และอาจมีเส้นทางจักรยานคู่ในช่วงจุดที่สวยงาม ขณะที่ลักษณะเส้นทางจะมีทั้งถนนพื้นราบและทางยกระดับขึ้นอยู่กับพื้นที่ เมื่อศึกษาแล้วเสร็จจะพิจารณามอบให้กรมทางหลวง (ทล.) และกรมทางหลวงชนบท (ทช.) รับผิดชอบตามรูปแบบ และศักยภาพของแต่ละช่วงต่อไป เบื้องต้นอาจจะมีทั้งเส้นทางช่วงที่บริการแบบฟรีเวย์ หรือเป็นแบบทางพิเศษ เก็บค่าผ่านทางให้เอกชนลงทุนเพื่อประหยัดงบประมาณภาครัฐ ซึ่งขึ้นอยู่กับผลการศึกษาจะเห็นควรอย่างไร

โดยการศึกษาโครงการดังกล่าวจะเป็นการสนับสนุนการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน เชื่อมโยงพื้นที่แหล่งท่องเที่ยว เช่น อุทยานแห่งชาติแหลมสน จ.ระนอง, อ่าวนาง จ.กระบี่, เขาหลัก จ.พังงา, อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม จ.ตรัง, หาดนาใต้ จ.พังงา, อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตราจ.สตูล และพัฒนาแห่งท่องเที่ยวใหม่ๆ 

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันกรมทางหลวงชนบท (ทช.) อยู่ระหว่างการพัฒนาโครงการถนนท่องเที่ยวเลียบชายฝั่งทะเลอ่าวไทยภาคใต้ (Thailand Riviera) จากจ.สมุทรสงคราม-จ.นราธิวาส  โดยแผนการพัฒนาแบ่งเป็น 4 ระยะ ได้แก่ 

ระยะที่ 1 ช่วง จ.สมุทรสงคราม-จ.เพชรบุรี-จ.ประจวบคีรีขันธ์-จ.ชุมพร มีระยะทาง 514.616 กม. จำนวน 42 โครงการ ดำเนินการปี 2562-2566

ระยะที่ 2 ช่วง จ.ชุมพร-จ.สุราษฎร์ธานี -จ.นครศรีธรรมราช-จ.สงขลา อยู่ระหว่างทบทวนแนวเส้นทาง และศึกษาวิเคราะห์รายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) แผนก่อสร้าง ระยะเวลา 6 ปี (65-70)

ระยะที่ 3 ช่วง แบ่งดำเนินการเป็น 2 ช่วง คือ 1. ช่วง จ.สมุทรปราการ-จ.สมุทรสาคร-จ.สมุทรสงคราม (3 สมุทร) อยู่ระหว่างดำเนินการสำรวจออกแบบ และศึกษา EIA ดำเนินการก่อสร้าง ปี 2567-2571 (ระยะเวลา 5 ปี)  2. ช่วง จ.เพชรบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ (ตะนาวศรี) อยู่ระหว่างดำเนินการสำรวจออกแบบ และศึกษา EIA ดำเนินการก่อสร้างปี 2567-2571 (ระยะเวลา 5 ปี)

ระยะที่ 4 ช่วง จ.สงขลา-จ.ปัตตานี-จ.นราธิวาส ดำเนินการสำรวจออกแบบและศึกษา EIA ปี 2566-2567 ดำเนินการก่อสร้างปี 2569-2573 (ระยะเวลา 5 ปี)

♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦

แหล่งข่าว