พบซาก “โลมาอิรวดี” สัตว์ใกล้สูญพันธุ์ของไทย ตายเกยตื้น ที่ อ.แหลมงอบ จ.ตราด ส่วนที่ลาว ปิดตำนาน “ทัวร์ปลาข่า” แห่งลาวใต้ หลังสูญเสีย “โลมาอิรวดี” ตัวสุดท้ายแล้ว

นายแสงสุรี ซองทอง หัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่ 4 จ.ตราด เปิดเผย?ว่า? เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะช้าง ได้รับการแจ้งข่าวจากชาวบ้าน ว่าพบซาก โลมาอิรวดี ความยาว 1.04 เมตร น้ำหนัก 5.75 กิโลกรัม บริเวณสะพานอรุณ (อ่าวธรรมชาติ) ต.คลองใหญ่ อ.แหลมงอบ จ.ตราด ก่อนนำส่งซาก โลมาอิรวดี ตัวดังกล่าว ให้กับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เพื่อพิสูจน์สาเหตุการตายต่อไป

ปัจจุบัน โลมาอิรวดี มีจำนวนลดลงไปมาก เนื่องการล่าของมนุษย์ บางพื้นที่นำมาบริโภค และเพื่อเป็นการปกป้องจากการถูกทำร้ายจนใกล้จะสูญพันธุ์ ประเทศไทยจึงจัดให้ โลมาอิรวดี เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พุทธศักราช 2535 ทั้งยังถูกจัดให้อยู่ในสถานภาพใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง

และในที่ประชุมไซเตส (Cites) ปี 2546 ไทยได้เสนอให้ โลมาอิรวดีเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองบัญชีที่ 1 อันมีผลทำให้โลมาอิรวดีได้รับการคุ้มครองในระดับนานาชาติ จัดเป็นสัตว์สัญลักษณ์ที่ควรอนุรักษ์ 1 ใน 20 ของปีสากลแห่งความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทยอีกด้วย

ขณะที่สถานการณ์ในประเทศไทย อยู่ในสถานภาพใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง เป็นเรื่องน่าเศร้าที่ โลมาอิรวดีตัวสุดท้าย ของกัมพูชา ได้ตายลงแล้ว เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมานี้เอง The Phnom Penh Post รายงานว่า โลมาอิรวดีตัวสุดท้ายที่เหลืออยู่ในสระเฌอเตียล ( Chheuteal ) ของจังหวัดสตึงแตรง ตายลงแล้ว โดยผู้เชี่ยวชาญสรุปว่าสาเหตุอาจมาจากอาการบาดเจ็บที่หางที่เกิดจากอวนจับปลา

ทั้งนี้บริเวณดังกล่าวเป็นพรมแดนระหว่างประเทศกัมพูชาและประเทศลาว ซึ่งการที่โลมาอิรวดีตัวสุดท้ายนี้ตายลง เท่ากับการสูญสิ้นสปีชีส์นี้ไปเลยจากพื้นที่ของประเทศลาว ซึ่งเรียกมันว่า “ปลาข่า” จากที่ก่อนนี้การล่องเรือชมปลาข่า นับเป็นกิจกรรมการท่องเที่ยวยอดนิยมทางตอนใต้ของลาว

ขณะที่ฝั่งกัมพูชามีข้อเสนอว่าอาจนำพันธุ์โลมาจากที่อื่นเข้ามาเลี้ยงทดแทนหรือไม่ แต่ในทางเทคนิคนั้น กองทุนสัตว์ป่าโลก (WWF) ประกาศว่า โลมาอิรวดีน้ำจืด ในพื้นที่นี้ สูญพันธุ์ไปแล้วเพราะคู่ผสมพันธุ์น้อยเกินไป โดยเมื่อปี 2561 พบว่ามีโลมาที่รอดชีวิตเพียง 3 ตัว และเหลือตัวสุดท้ายตั้งแต่ต้นปี 2564 กระทั่งมันตายลงในที่สุด

♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦

แหล่งข่าว