กรมเจ้าท่าเทงบ 270 ล้านบาทเร่งก่อสร้างกำแพงป้องกันกัดเซาะบริเวณปากน้ำเทพา จ.สงขลา รวมระยะทาง 1.5 กม. เพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ แก้ปัญหาน้ำท่วม บรรเทาความเดือดร้อนให้ประชาชน

จากนโยบายและคำสั่งการของ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และ ดร.อธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ให้กรมเจ้าท่าจัดทำโครงการก่อสร้างกำแพงป้องกันการกัดเซาะตลอดลำน้ำเทพาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำ ป้องกันการกัดเซาะพังทลายของตลิ่ง ลดความรุนแรงของสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่จังหวัดสงขลา

วันที่ 6 พฤศจิกายน 2564 นายภูริพัฒน์ ธีระกุลพิศุทธิ์ รองอธิบดีกรมเจ้าท่า ด้านปลอดภัย นายเรวัต โพธิ์เรียง ผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคที่ 4 นายกรกฤธ ฉัตรวงศ์วิวัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาค สาขาสงขลา ร่วมลงพื้นที่ให้การต้อนรับรองนายกรัฐมนตรี พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ พร้อมคณะ ในการลงพื้นที่ตรวจติดตามงานด้านการพัฒนาและความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ นราธิวาส สงขลา และปัตตานี

กรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม จัดทำแผนการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งของปากน้ำเทพา โดยโครงการก่อสร้างกำแพงป้องกันการกัดเซาะบริเวณปากน้ำเทพา ต.ปากบาง อ.เทพา จ.สงขลา มีระยะเวลาดำเนินการ แบ่งเป็น 2 ระยะ

ได้แก่ ระยะที่ 1 ปีงบประมาณ 2565 ดำเนินการระยะทาง 500 เมตร วงเงินงบประมาณ 90 ล้านบาท (งบกลาง) ระยะที่ 2 ปีงบประมาณ 2566-2568 ดำเนินการระยะทาง 1,000 เมตร วงเงินงบประมาณ 180 ล้านบาท (งบกลาง) รวมวงเงินงบประมาณทั้งสิ้น 270 ล้านบาท

โดยกองวิศวกรรม กรมเจ้าท่า จะดำเนินการจ้างผู้รับเหมาในการดำเนินงานการก่อสร้างกำแพงป้องกันการกัดเซาะ โดยใช้เสาเข็มคอนกรีตชีตไพล์ในการก่อสร้างกำแพงป้องกันการกัดเซาะในพื้นที่ทั้ง 2 ระยะ พร้อมกับขุดลอกร่องน้ำให้ได้ความลึกตามความเหมาะสม เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำของแม่น้ำ และส่งเสริมการเดินเรือและขนส่งทางน้ำได้อย่างสะดวกและปลอดภัย โดยไม่เกิดผลกระทบต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อมในบริเวณปากน้ำเทพา อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา ถือเป็นพื้นที่สำคัญของจังหวัดชายแดนใต้ เป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบและความเสียหายจากอุทกภัยมาโดยตลอด

โดยเฉพาะความรุนแรงเมื่อปี พ.ศ. 2560 ที่ผ่านมา เกิดปัญหาอุทกภัยระดับรุนแรงโดยเฉพาะบริเวณปากแม่น้ำเทพา ได้แก่ บริเวณหมู่ที่ 7 ตำบลเทพา และหมู่ที่ 4 ตำบลปากบาง เป็นผลสืบเนื่องมาจากสภาพภูมิประเทศถูกขนาบโดยพื้นที่ต้นน้ำของแม่น้ำเทพาที่เป็นแม่น้ำสายสำคัญของภาคใต้ มีต้นกำเนิดมาจากเทือกเขาสันกลาคีรี เป็นพรมแดนระหว่างจังหวัดสงขลา จังหวัดยะลา และประเทศมาเลเซีย เริ่มจากบริเวณอำเภอสะบ้าย้อย ไหลผ่านอำเภอสะบ้าย้อย อำเภอเทพา และไหลลงอ่าวไทยที่บ้านคลองประดู่ หมู่ที่ 4 ตำบลปากบาง อำเภอเทพา

รวมทั้งยังเป็นบริเวณปากน้ำที่มีลำน้ำสำคัญหลายสายมาบรรจบกัน เช่น คลองท่าโต๊ะยี คลองเปียน คลองลำเปา เป็นต้น มีความยาวของลำน้ำสายหลักประมาณ 130 กิโลเมตร มีปริมาณน้ำเฉลี่ยปีละประมาณ 763 ล้านลูกบาศก์เมตร หากไม่มีการดำเนินการแก้ไขปัญหาก็จะเป็นปัญหาอุทกภัยน้ำท่วมซ้ำเดิมเป็นประจำทุกปี

ภายหลังโครงการก่อสร้างกำแพงป้องกันการกัดเซาะบริเวณปากน้ำเทพาแล้วเสร็จ จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำของแม่น้ำเทพา ลดปัญหาอุทกภัย ให้สอดรับกับนโยบายรัฐบาลยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ในด้านการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ช่วยส่งเสริมให้เกิดการเดินเรือและการขนส่งทางน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦

แหล่งข่าว