ผลการวิเคราะห์ปรากฏการณ์น้ำทะเลเปลี่ยนสี จากภาพถ่ายดาวเทียม Sentinal-2B บริเวณอ่าวไทยตอนบน วันที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 เวลา 10.35 น.

จากกรณีพบการเกิดปรากฏการณ์น้ำทะเลเปลี่ยนสี บริเวณชายหาดบางแสน จังหวัดชลบุรี นั้น ในการนี้ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) ได้ทำการวิเคราะห์พื้นที่การเกิดปรากฏการณ์น้ำทะเลเปลี่ยนสี และคาดการณ์พื้นที่ที่จะได้รับผล กระทบด้วยภาพถ่ายจากดาวเทียม Sentinel-2B ระบบ MSI บริเวณอ่าวไทยตอนบนวันที่ 30 ก.ค. 2564 เวลา 10.35 น. พบว่าเกิดปรากฎการณ์น้ำเปลี่ยนสีในพื้นที่บริเวณกลางทะเลอ่าวไทยตอนบน และบริเวณใกล้ชายฝั่ง กระจายเป็นพื้นที่ประมาณ 50 ตารางกิโลเมตร (บริเวณที่เป็นสีแดงในพื้นที่กรอบสีขาว)

ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์ร่วมกับกระแสน้ำจากระบบเรดาร์ชายฝั่ง และประเมินพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบคาดการณ์ได้ว่าพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์น้ำทะเลเปลี่ยนสีคือพื้นที่บริเวณตลอดแนวชายฝั่งของตำบลอ่างศิลา และตำบลแสนสุข อำเภอเมือง และตำบลบางพระ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี (พื้นที่กรอบสีแดง)

ปรากฏการณ์ดังกล่าว เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เกิดจากการเจริญเติบโตและเพิ่มปริมาณอย่างรวดเร็ว (bloom) ของ Phytoplankton (แพลงก์ตอนพืช สิ่งมีชีวิตที่สามารถสร้างอาหารได้ด้วยตัวเอง) ซึ่งจะมีทั้งชนิดที่มีพิษและไม่มีพิษโดยจะเกิดเป็นระยะเวลาหนึ่ง ช่วงประมาณ 1-2 สัปดาห์ ส่วนมากจะเกิดช่วงฤดูฝน เนื่องจากมีมวลน้ำจากบกที่มีปริมาณสารอาหารสำหรับพืชน้ำไหลลงสู่ทะเล ซึ่งมีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย เช่น ปริมาณสารอาหารในน้ำที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว อุณหภูมิ การเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบต่างๆ ในน้ำ เป็นต้น ทำให้ค่อนข้างยากต่อการคาดการณ์การเกิด โดยปรากฏการณ์นี้ส่งผลกระทบ ในหลายด้าน เช่น
1) คุณภาพน้ำชายฝั่งเน่าเสีย เนื่องจาการเน่าสลายของ Phytoplankton พวกนี้ จะมีผลต่อสัตว์ทะเลทำให้ขาดออกซิเจนและตายได้
2) ทัศนียภาพของแหล่งท่องเที่ยวลดน้อยลง เนื่องจากน้ำชายฝั่งเน่าเสีย ไม่เหมาะกับการลงเล่นน้ำในทะเล
3) สัตว์ทะเลที่กิน Phytoplankton เหล่านี้เข้าไป ถ้าเป็นชนิดมีพิษ จะเกิดอันตรายต่อผู้บริโภคได้
4) มีผลกระทบกับการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งได้