กรณีที่เป็นข่าวในสื่อสังคมออนไลน์ เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน พบมีลูกฉลามขายอยู่หลายตัวในตลาดใกล้กรุง ราคาเพียงกิโลละ 100 บาท แต่ตัวที่สำคัญมากคือลูกฉลามหัวค้อน ซึ่งเป็นปลาใกล้สูญพันธุ์ และปัจจุบันอยู่ระหว่างการผลักดันเป็นสัตว์คุ้มครอง

วันที่ 26 มิถุนายน นายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง(ทช.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันฉลามทั่วโลกถูกจับได้จากการประมงมากกว่า 100 ล้านตัว หรือเฉลี่ยที่ 190 ตัวต่อนาที ในจำนวนทั้งหมดนี้มากกว่า 70 ล้านตัว หรือประมาณร้อยละ 75 เป็น ฉลามที่ถูกจับเพื่อตัดเอาครีบไปขาย

อธิบดีทช. กล่าวว่า สำหรับประเทศไทยไม่ได้มีการทำประมงปลาฉลามโดยตรง เนื่องจากปลากลุ่มนี้ไม่ใช่สัตว์น้ำเป้าหมาย และถูกจัดเป็นเพียงสัตว์น้ำพลอยจับได้ (bycatch) โดยมีสัดส่วนที่จับได้ น้อยกว่าร้อยละ 1 เมื่อเทียบกับผลจับสัตว์น้ำทั้งหมดที่ได้จากการประมงทะเล และส่วนใหญ่ถูกจับได้โดยเครื่องมืออวนลาก โดยเฉพาะอวนลากแผ่นตะเฆ่

“การสำรวจรวบรวมข้อมูลชนิดพันธุ์ของฉลามในน่านน้ำไทยโดยกรมประมง ในปี 2563 พบว่า มีทั้งหมด 87 ชนิด มากกว่า 75% เป็นชนิดพันธุ์ที่หายาก (Rare species) หรือชนิดพันธุ์ที่ใกล้สูญพันธุ์ (Endangered species) โดยพบในทะเลอันดามันมากถึง 80 ชนิด ส่วนอ่าวไทยพบเพียง 53 ชนิด มีการแพร่กระจายตามแหล่งที่อยู่อาศัยตั้งแต่ในแม่น้ำไปจนถึงเขตทะเลลึก และมีบางชนิดที่มีรายงานว่าไม่พบในเขตทะเลไทยมานานแล้ว ได้แก่ ปลาฉลามหนู(Carcharhinus obsolerus) และปลาฉลามหัวค้อนยาว (Eusphyra blochii) กลุ่มปลาฉลามที่อยู่ระหว่างการดำเนินการเพื่อประกาศเป็นสัตว์คุ้มครอง ได้แก่ กลุ่มปลาฉลามหัวค้อน และฉลามเสือดาว กลุ่มปลาฉลามหัวค้อน 4 ชนิด ได้แก่ ปลาฉลามหัวค้อนยาว (Eusphyra blochii) (Thailand Red Data) ปลาฉลามหัวค้อนสีน้ำเงิน (Sphyrna lewini) ปลาฉลามหัวค้อนยักษ์ (Sphyrna mokarran) และปลาฉลามหัวค้อนเรียบ/ปลาฉลามหัวค้อนดำ (Sphyrna zygaena)”นายโสภณ กล่าว

อธิบดีทช. กล่าวว่า ทช. ได้เสนอขึ้นบัญชีสัตว์คุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 ผ่านกรมประมง และคณะกรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าแห่งชาติ (ตาม พ.ร.บ. สงวนฯ พ.ศ. 2535) โดยมี นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นประธาน ซึ่งได้พิจารณาให้ความเห็นชอบแล้ว แต่ยังไม่ได้ประกาศเป็นกฎกระทรวง เนื่องจากอยู่ในช่วงรอยต่อระหว่างพระราชบัญญัติฉบับเดิม (พ.ร.บ. สงวนฯ พ.ศ. 2535) กับพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าฉบับใหม่ (พ.ร.บ. สงวนฯ พ.ศ. 2562)

“ท่านรัฐมนตรี เร่งรัดและสั่งการเรื่องนี้มาโดยตลอด เพราะเห็นความสำคัญอย่างมาก หากมีการประชุมคณะกรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าแห่งชาติครั้งหน้า คิดว่าเรื่องนี้จะมีความคืบหน้าแน่นอน” นายโสภณ กล่าว ขณะนี้บัญชีรายชื่อกลุ่มฉลามหัวค้อนดังกล่าว รอดำเนินการผ่านทางกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช (อส.) ในฐานะฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าสำหรับฉลามเสือดาว (Stegostoma fasciatum) คณะกรรมการฝ่ายวิชาการพิจารณาสถานภาพสัตว์ป่าที่เป็นสัตว์น้ำ ตาม พ.ร.บ. สงวนฯ พ.ศ. 2535 ของกรมประมง ขอให้เพิ่มเติมข้อมูล เนื่องจากฉลามชนิดนี้มักพบติดเครื่องมือประมงแบบสัตว์น้ำพลอยจับได้ (Bycatch) การพิจารณาต้องมีการหารือทุกภาคส่วนอย่างรอบคอบ เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง “สำหรับฉลามหัวค้อนตัวที่เป็นข่าวคือ ปลาฉลามหัวค้อนสีน้ำเงิน Sphyrna lewini (kidney-head shark) ซึ่งเป็นชนิดที่อยู่ในบัญชีที่กำลังจะประกาศเป็นสัตว์คุ้มครอง พบได้น้อย ในเขตน้ำตื้นถึงไหล่ทวีป เป็นบัญชี 2 ของอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ หรือ ไซเตส สถานภาพใกล้สูญพันธุ์ ใน IUCN Red List” อธิบดีทช. กล่าว

♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦

แหล่งข่าว