หมู่เกาะในอินโดนีเซียเป็นที่อยู่อาศัยของปะการังมากกว่า 75% ของโลก ตามข้อมูลของโครงการฟื้นฟูปะการังข้ามชาติ Coral Triangle Initiative แต่ทุกวันนี้ ปะการังหลายแห่งเผชิญกับการกัดกร่อนและฟอกขาวในทุกปี ทว่าแนวปะการังในบาหลีเพียงครึ่งเดียวเท่านั้นที่ถือว่าอยู่ในสภาพดี โดยที่เหลืออีก 30% อยู่ในสภาพย่ำแย่ และ 15% อยู่ในสภาพเลวร้ายกว่า ตามรายงานของกรมประมงของบาหลีในปี พ.ศ.2561 ซึ่งความเสียหายนั้นเกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นการประมงแบบคุกคาม ภาวะโลกร้อน และคลื่นรุนแรง

เมื่อเร็วๆนี้ มีข้อมูลเปิดเผยว่าแนวปะการังที่กำลังจะตายของบาหลีมีการงอกใหม่ เป็นผลงานของมูลนิธิ Nusa Dua Reef ที่นักอนุรักษ์ได้ใช้วิธีนำโครงสร้างเหล็กรูปทรงหกเหลี่ยมคล้ายดาว เรียกว่า “รีฟ สตาร์” (Reef Star) มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 เมตร ไปวางตามแนวปะการังที่ตายทั่วเกาะบาหลี เพื่อกระตุ้นการงอกและเติบโตของปะการังใหม่

ปารีอามา ฮูตาซูอิต นักอนุรักษ์สตรีชาวอินโดนีเซียเผยว่า มูลนิธิ Nusa Dua Reef ได้ติดตั้งโครงสร้างเหล็กนี้เกือบ 6,000 ชิ้น และตั้งเป้าจะติดตั้งเพิ่มตามแนวปะการังอีกประมาณ 5,000 ชิ้นในอีก 5 ปีข้างหน้า ส่วนในอนาคตนั้น หากเป็นไปได้ก็ต้องการขยายการฟื้นฟูแนวปะการังออกไปนอกบาหลีเช่นกัน นอกจากนี้ ส่วนหนึ่งของเงินบริจาคของมูลนิธิจะใช้ในโครงการเผยแพร่ให้ความรู้แก่ชุมชนท้องถิ่นถึงความสำคัญของการปกป้องแนวปะการังของบาหลี.

♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦

แหล่งข่าว