ทช.ประกาศ คุ้มครองกองหินใต้น้ำ 21 แห่ง 6 จังหวัด “วราวุธ” สั่งสำรวจ ปะการังทั่วประเทศ

ตามที่ได้มีข่าวการเตรียมประกาศพื้นที่คุ้มครองทรัพยากรปะการังในบริเวณพื้นที่กองหินใต้น้ำในพื้นที่จังหวัดจันทบุรี ระยอง ชุมพร สุราษฎร์ธานี ปัตตานี และพังงา เมื่อราวปลายเดือนมีนาคม 2564 ที่ผ่านมา ซึ่งเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2564 ราชกิจจานุเบกษาได้ประกาศคำสั่งคุ้มครองทรัพยากรปะการังในบริเวณพื้นที่กองหินใต้น้ำใน 6 จังหวัด 21 พื้นที่ โดยมีผลบังคับใช้จนถึงปี 2569

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) ได้กล่าวถึงความสำคัญและความจำเป็นในการคุ้มครองแหล่งปะการัง พร้อมย้ำว่าการทำการประมงไม่ใช่เรื่องที่ผิด แต่การทำประมงที่ทำให้ปะการังเสียหายนับเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ โดยได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการหามาตรการและแนวทางในการคุ้มครองแหล่งปะการังสำคัญทั่วประเทศ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้เร่งประชาสัมพันธ์ให้ชาวประมงและผู้ที่เกี่ยวข้องทราบทันที ซึ่งหากพบการกระทำผิดจะต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ พร้อมย้ำหากพบจะดำเนินการทางกฎหมายให้ถึงที่สุด

นายวราวุธ กล่าวว่า ตนได้กล่าวในหลายเวทีถึงความสำคัญของระบบนิเวศปะการังและการอนุรักษ์ปะการังอย่างยั่งยืน เนื่องจาก ปะการังเป็นสัตว์ที่มีความอ่อนไหวและเปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติ และการรบกวนจากกิจกรรมมนุษย์ นอกจากนี้ การฟื้นฟูปะการังเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยากลำบากและใช้เวลานานนับสิบปีกว่าจะสมบูรณ์อย่างเดิม ซึ่งสาเหตุความเสื่อมโทรมส่วนใหญ่มาจากกิจกรรมมนุษย์ ทั้งจากการท่องเที่ยวอย่างไม่ระวัง การทิ้งสมอเพื่อจอดเรือ และสาเหตุสำคัญคือการทำประมง ทั้งจากเครื่องมือประมง และเศษอุปกรณ์ที่ตกค้างอยู่ตลอดแนวแหล่งปะการัง

“หลายครั้งที่ผมได้ลงดำน้ำ นอกจากเศษถุงและขวดพลาสติกแล้ว เศษอุปกรณ์จากการทำประมง ทั้งเชือกและอวน สามารถพบเห็นได้เกือบทุกแหล่ง ซึ่งที่ผ่านมา ผมได้สั่งการให้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งเร่งสำรวจทุกแหล่งปะการังสำคัญและหามาตรการคุ้มครองและจัดการพื้นที่เหล่านั้น มิให้ถูกทำลายหรือได้รับผลกระทบอย่างเช่นที่ผ่านมา และได้มอบหมายให้นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดทส. เร่งรัดหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง(ทช.) หามาตรการในการกำกับ ควบคุม คุ้มครอง และจัดการพื้นที่แหล่งปะการังอย่างยั่งยืน หากเป็นไปได้ แหล่งปะการังทุกตารางนิ้วของประเทศไทย ต้องได้รับการดูแลเป็นอย่างดี สำหรับคำสั่งที่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้ประกาศในครั้งนี้ เป็นเพียงการห้ามมิให้ทำการประมง ลอบ อวนทุกชนิดในพื้นที่แหล่งปะการังทั้ง 21 แหล่ง แต่เรายังสามารถท่องเที่ยวชื่นชมความสวยงามได้ตามปกติ โดยที่ไม่แตะต้อง สัมผัส เข้าใกล้ หรือทิ้งเศษขยะบริเวณดังกล่าว ขอให้คิดถึงคนที่จะชมปะการังต่อจากเรา พวกเขาต้องการเห็นปะการังที่สวยงามเหมือนอย่างกับที่เราได้เห็น ?ปะการังเปรียบเสมือนประติมากรรมใต้ท้องทะเล เป็นสุนทรียภาพที่ธรรมชาติสร้างขึ้นเพื่อความสมดุลของระบบนิเวศ การทำประมงไม่ใช่เรื่องที่ผิด แต่การทำประมงที่ขาดจิตสำนึกทำให้ทรัพยากรธรรมชาติเสียหาย คือ เรื่องที่ยอมรับไม่ได้” นายวราวุธ กล่าว

นายโสภณ ทองดี อธิบดีทช. กล่าวว่า การประกาศคำสั่งคุ้มครองพื้นที่ครั้งนี้ ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2554 โดยการออกคำสั่งได้อาศัยอำนาจตามมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ. 2558 โดยห้ามบุคคลใดเข้าไปทำการประมง ลอบ อวนทุกชนิดในบริเวณแนวปะการังในพื้นที่คุ้มครองทรัพยากรปะการังในบริเวณพื้นที่กองหินใต้น้ำพื้นที่ จ.จันทบุรี ระยอง ชุมพร สุราษฎร์ธานี ปัตตานี และพังงา จำนวน 21 พื้นที่ ได้แก่ กองหินอ้ายลอบ อำเภอท่าใหม่ กองหินผุด อำเภอแหลมสิงห์ จ.จันทบุรี กองหินอันซีน (Unseen) อ.เมืองระยอง กองหินเพิง อ.แกลง จ.ระยอง กองหินเจนทะเล กองหินพุ่ม อ.ละแม จ.ชุมพร กองหินชุมพร กองหินวง เกาะกงทรายแดง กองหินตุ้งกู กองหินใบ กองหินเกาะว่าว เกาะตุ้งกู เกาะตุ้งกา อ.เกาะพะงัน กองหินคันธุลี อ.ท่าชนะ จ.สุราษฎร์ธานี เกาะโลซินจังหวัดปัตตานี กองหินหมูสัง เกาะดอกไม้ อ.เกาะยาว กองหินอีแต๋น พื้นที่อุทยานการเรียนรู้ใต้ทะเลเขาหลัก อ.ตะกั่วป่า และกองหินริเชลิว อ.คุระบุรี จ.พังงา หากผู้ใดฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยมีผลบังคับใช้เป็นระยะเวลา 5 ปี สิ้นสุดในปี 2569 ทั้งนี้ ตนได้สั่งการไปยังสำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 1 – 10 ให้เร่งประชาสัมพันธ์กับชุมชน กลุ่มธุรกิจนำเที่ยว นักท่องเที่ยว กลุ่มชาวประมงในพื้นที่ ให้ทราบและปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าวอย่างเคร่งครัด นอกจากนี้ ตนได้เน้นย้ำแล้ว หากพบเห็นการกระทำผิดให้ดำเนินการตามกฎหมายจริงจังและเด็ดขาด

♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦

แหล่งข่าว