ประธานาธิบดีโจโค วิโดโด ของอินโดนีเซีย ออกคำสั่งในวันพฤหัสบดี (22 เม.ย.) ให้ทุ่มเทใช้ความพยายามแบบสุดๆ ในการทำงานแข่งกับเวลาเพื่อค้นหาเรือดำน้ำลำหนึ่งของกองทัพที่สูญหายไประหว่างการฝึกซ้อมในทะเล ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับชะตากรรมของลูกเรือจำนวน 53 คน โดยที่ผู้บัญชาการทหารเรือระบุว่าออกซิเจนภายในเรือจะมีใช้ได้แค่ถึงวันเสาร์ (24) นี้

เจ้าหน้าที่จากหน่วยงานต่างๆ ของอินโดนีเซีย เตรียมตัวเข้าร่วมการปฏิบัติการค้นหาเรือดำน้ำ เคอาร์ไอ นังกาลา-402 ของกองทัพเรือแดนอิเหนาที่สูญหายไป ณ ท่าเรือเซลูคัน บาวัง ในจังหวัด บูเลเลง ของอินโดนีเซีย วันพฤหัสบดี (22 เม.ย.)

อินโดนีเซียได้ส่งเฮลิคอปเตอร์ 1 ลำ และเรือ 5 ลำออกค้นหาบริเวณน่านน้ำนอกชายฝั่งตอนเหนือของเกาะบาหลี แต่ยังไม่พบสัญญาณใดๆ ของเรือดำน้ำ เคอาร์ไอ นังกาลา-402(KRI Nanggala-402) ลำนี้ ซึ่งสูญหายไปอย่างไร้รอยเมื่อวันพุธ (21) ขณะออกฝึกซ้อมยิงตอร์ปิโดที่บริเวณน่านน้ำดังกล่าว ด้าน โยโด มาร์โกโน ผู้บัญชาการทหารเรือแถลงว่า การค้นหาในตอนนี้ไม่ประสบความยุ่งยากอะไร เนื่องจากท้องทะเลสงบราบเรียบ อย่างไรก็ดี ออกซิเจนบนเรือดำน้ำจะใช้ได้นานที่สุดแค่ถึงวันเสาร์

ตั้งแต่วันพุธ จากการบินสำรวจทางอากาศได้พบคราบน้ำมันใกล้จุดที่เรือดำน้ำดำลงไป กระทรวงกลาโหมอินโดนีเซียระบุว่าได้ส่งคำขอความอนุเคราะห์ไปยังออสเตรเลีย สิงคโปร์ และอินเดีย ซึ่งทั้งหมดก็ตอบรับเข้าช่วยเหลือ ฮาร์ดี ทยาห์ยันโต ผู้บัญชาการทหารของอินโดนีเซีย เปิดเผยกับสำนักข่าวรอยเตอร์ผ่านข้อความทางโทรศัพท์มือถือในวันพุธว่า เรือดำน้ำขาดการติดต่อตอนเวลา 04.30 น. และเวลานี้กำลังดำเนินหน้าค้นหาเรือดำน้ำบริเวณห่างจากชายฝั่งเกาะบาหลี ประมาณ 96 กิโลเมตร

กองทัพเรือระบุในถ้อยแถลงว่า ?มีความเป็นไปได้ว่าจะเกิดไฟฟ้าดับตอนที่เรือดำน้ำดำลง ดังนั้นจึงสูญเสียการควบคุมและขั้นตอนฉุกเฉินไม่สามารถดำเนินการได้ จากนั้นเรือก็หล่นสู่ความลึก 600-700 เมตร ข้อสันนิษฐานดังกล่าวก่อความกังวลอย่างยิ่ง เนื่องจากเจ้าหน้าที่รายหนึ่งเผยว่าเรือดำน้ำลำนี้สามารถต้านทานแรงดันต่อเนื่อง ณ ความลึกสุดแค่ราวๆ 250 เมตรเท่านั้น ขณะเดียวกัน กองทัพเรือยังสันนิษฐานว่าคราบน้ำมันที่พบบริเวณพื้นผิวทะเลอาจหมายความว่าเรือดำน้ำอาจเกิดความเสียหายบริเวณถังเชื้อเพลิง แต่ก็มีความเป็นไปได้ว่ามันจะเป็นการส่งสัญญาณจากลูกเรือ

จากข้อมูลของกระทรวงกลาโหม ระบุว่า เรือดำน้ำเคอาร์ไอ นังกาลา-402 ซึ่งมีน้ำหนัก 1,395 ตัน ถูกสร้างในเยอรมนีในปี 1977 และเข้าประจำการในกองทัพเรืออินโดนีเซียในปี 1981 เรือลำนี้เคยผ่านการยกเครื่องปรับปรุงเป็นเวลา 2 ปีในเกาหลีใต้ ซึ่งแล้วเสร็จในปี 2012

ในอดีตอินโดนีเซียเคยมีกองเรือดำน้ำ 12 ลำที่ซื้อจากสหภาพโซเวียตมาใช้ตรวจการณ์น่านน้ำรอบหมู่เกาะกว้างไกลของประเทศ แต่ปัจจุบันอินโดนีเซียเหลือเรือดำน้ำเพียง 5 ลำ รวมถึง 2 ลำที่เป็นเรือดำน้ำแบบ 209 ที่ต่อโดยเยอรมนี และเรือดำน้ำที่ใหม่กว่าจำนวน 3 ลำจากเกาหลีใต้

♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦

แหล่งข่าว