ผลวิจัยล่าสุดชี้ ปัญหามลภาวะจากไมโครพลาสติกเข้าขั้นวิกฤตแล้ว หลังพบอนุภาคพลาสติกจำนวนมหาศาลฝังตัวเป็นองค์ประกอบส่วนหนึ่งของกระแสอากาศที่ไหลเวียนไปรอบโลก เสมือนกับว่ามันเป็นสสารในธรรมชาติอย่างก๊าซออกซิเจนหรือน้ำเลยทีเดียว

ผลการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร PNAS ฉบับเดือนเมษายนนี้ ระบุว่า ทีมนักวิทยาศาสตร์นานาชาติได้ค้นพบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับวงจรชีวิตของไมโครพลาสติก ซึ่งได้กระจายตัวไปปนเปื้อนอยู่ทั่วทุกหนแห่งของโลก ทั้งบนบก ในน้ำ และในอากาศ “เราพบมลภาวะจากไมโครพลาสติกที่สะสมตัวมานานหลายสิบปีเป็นจำนวนมหาศาล อนุภาคพลาสติกเหล่านี้ไม่ใช่ของใหม่ แต่เป็นสิ่งที่มนุษย์ทิ้งไว้ให้ตกค้างอยู่ในสิ่งแวดล้อมมาตั้งแต่หลายทศวรรษก่อน” ผศ.ดร. แจนิซ บราห์นีย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านทรัพยากรธรรมชาติ และหนึ่งในผู้นำทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยยูทาห์สเตตของสหรัฐฯ กล่าว

ทีมวิจัยของผศ.ดร. บราห์นีย์ ได้ตรวจสอบปริมาณและที่มาของไมโครพลาสติกที่พบในภูมิภาคทางตะวันตกของสหรัฐฯ ระหว่างเดือนธ.ค. 2017 ถึงเดือนม.ค. 2019 ทำให้ทราบว่าอนุภาคพลาสติกส่วนใหญ่ในพื้นที่ดังกล่าวถูกพัดพามาจากแหล่งกำเนิดในที่อื่น ๆ โดยปะปนมากับฝุ่นละอองที่ลอยฟุ้งตามท้องถนน 84% มากับละอองน้ำในมหาสมุทรที่ถูกพัดขึ้นบก 11% และอีก 5% มากับฝุ่นดินจากพื้นที่การเกษตร

ภาพจากกล้องจุลทรรศน์แสดงให้เห็นชิ้นส่วนพลาสติกสีฟ้า ปะปนอยู่กับฝุ่นและเส้นใยที่กรองได้จากอากาศ

เมื่อนำข้อมูลดังกล่าวมาสร้างแบบจำลองคอมพิวเตอร์ ทีมผู้วิจัยพบว่าแหล่งกำเนิดสำคัญของไมโครพลาสติก ซึ่งกระแสลมกรดได้พัดพาให้กระจายตัวไปยังทุกทวีปทั่วโลกนั้น มาจากการสลายตัวของแพขยะขนาดยักษ์ในมหาสมุทรเป็นหลัก ขยะพลาสติกที่ถูกคลื่นลมบดขยี้จนกลายเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย จะถูกลมพัดให้ล่องลอยขึ้นไปอยู่ในบรรยากาศได้เป็นเวลานานหลายชั่วโมงไปจนถึงเกือบหนึ่งสัปดาห์เลยทีเดียว ซึ่งนับว่านานเพียงพอที่จะทำให้มันเดินทางไกลข้ามทวีปได้

ผลวิจัยยังพบว่า มลภาวะจากไมโครพลาสติกไม่ได้มีอยู่แค่ในเมืองใหญ่เท่านั้น หากแต่ยังปรากฏในพื้นที่ห่างไกลผู้คน เช่นในเขตป่าลึกของอุทยานแห่งชาติอีกด้วย เนื่องจากอนุภาคพลาสติกนั้นได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของระบบกระแสอากาศโลกที่พัดไหลเวียนไปได้ทั่วทุกแห่ง

นับแต่ช่วงต้นศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา มนุษย์ทั่วโลกได้ผลิตพลาสติกขึ้นมาแล้วถึง 1 หมื่นล้านตัน แต่ในจำนวนนี้มีเพียง 12% – 18% เท่านั้นที่ถูกกำจัดด้วยการเผา นำไปถมดิน หรือเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล ดังนั้นเรายังคงมีขยะพลาสติกตกค้างจำนวนมหาศาลที่ไม่รู้ว่ากระจัดกระจายไปอยู่กันในที่ใดบ้าง ซึ่งเศษพลาสติกเหล่านี้อาจกำลังก่อปัญหาใหญ่หลวงให้กับระบบนิเวศอยู่ก็เป็นได้

♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦

แหล่งข่าว