แบบจำลองกระแสน้ำ AMOC หรือกระแสน้ำอุ่นกัลฟ์สตรีมในมหาสมุทรแอตแลนติก

รายงานวิจัยล่าสุด 2 ฉบับ ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nature Geoscience และ PNAS ระบุว่ากระแสน้ำ Atlantic Meridional Overturning Circulation (AMOC) หรือกระแสน้ำอุ่นกัลฟ์สตรีม ซึ่งเป็นสายธารหลักสายหนึ่งของโลกในมหาสมุทรแอตแลนติก ขณะนี้อ่อนกำลังลงถึงระดับต่ำสุดในรอบกว่าหนึ่งพันปี ทั้งยังเสี่ยงเข้าใกล้จุดวิกฤตที่จะทำให้มันหยุดไหลเวียนอย่างถาวรเร็วขึ้น ซึ่งอาจเป็นภายในช่วงสิ้นศตวรรษนี้

ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกนของเดนมาร์ก และสถาบันพอตสดัมเพื่อการวิจัยผลกระทบทางภูมิอากาศของเยอรมนี ชี้ว่ากระแสน้ำดังกล่าวซึ่งเป็น “สายพานลำเลียง” อากาศอบอุ่น แร่ธาตุ และสารอาหารต่าง ๆ จากเขตร้อนบริเวณอ่าวเม็กซิโกไปยังยุโรปตะวันตก กำลังเคลื่อนตัวช้าลงไปอีกในอัตราการชะลอความเร็วสูงกว่าที่เคยคาดกันไว้ บรรดานักวิทยาศาสตร์หวั่นเกรงกันว่า สภาพการณ์ดังกล่าวจะไปถึงจุดวิกฤต (tipping point) ภายในปี 2100 ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้นแล้วจะไม่สามารถแก้ไขให้กระแสน้ำกลับมาไหลเวียนดังเดิมได้

ภาพแสดงทิศทางของกระแสน้ำสายต่าง ๆ ในซีกโลกเหนือ ซึ่งไหลเวียนอยู่ที่ส่วนบนของมหาสมุทร

การที่กระแสน้ำอุ่น AMOC ไหลช้าลงนั้น เป็นผลมาจากภาวะโลกร้อนที่เปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก โดยอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้นและการละลายของแผ่นน้ำแข็งที่กรีนแลนด์ ทำให้น้ำจืดปริมาณมหาศาลลงสู่มหาสมุทร รบกวนการไหลเวียนของกระแสน้ำที่ขับเคลื่อนด้วยแรงดันเกลือ ส่งผลให้กระแสน้ำอ่อนแรงและไหลช้าลง จนเป็นเหตุให้อุณหภูมิของผิวน้ำและมวลอากาศข้างบนเย็นตัวได้

หากภาวะโลกร้อนยังคงดำเนินต่อไปโดยไม่หยุดยั้งในอัตราที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน กระแสน้ำอุ่น AMOC จะยิ่งอ่อนกำลังลงไปอีก 34% – 45% ในช่วงสิ้นศตวรรษนี้ และอาจหยุดนิ่งไปอย่างถาวรในช่วงของศตวรรษถัดไป

ภูมิอากาศของยุโรปจะหนาวเย็นลงอีก หากกระแสน้ำอุ่นในมหาสมุทรหยุดไหลเวียน เหมือนที่กรีซเผชิญเหตุหิมะตกหนักผิดปกติในปีนี้

กระแสน้ำอุ่นที่ไหลช้าจนหยุดนิ่งและเย็นตัวลง จะทำให้ภูมิภาคยุโรปเผชิญอากาศหนาวเหน็บและความแห้งแล้ง รวมทั้งคลื่นความร้อนที่รุนแรงยิ่งกว่าเดิม ส่วนชายฝั่งตะวันออกของสหรัฐฯ ด้านที่ติดกับมหาสมุทรแอตแลนติก จะมีน้ำทะเลหนุนสูงรวมทั้งเกิดพายุใหญ่ที่รุนแรงบ่อยครั้งขึ้น

นอกจากนี้ การที่กระแสน้ำอุ่นซึ่งนำพาแร่ธาตุและสารอาหารจากเขตร้อนไปสู่ซีกโลกเหนือหยุดนิ่ง จะทำให้เกิดหายนะต่อระบบนิเวศและสิ่งมีชีวิตในมหาสมุทรแอตแลนติกอย่างใหญ่หลวงติดตามมาด้วย

แหล่งข่าว