“ไฟป่า” กำลังเป็นปัญหาที่สำคัญของบ้านเรา เมื่อเกิดแล้วไม่ได้ส่งผลแค่เรื่องของไฟป่าเพียงอย่างเดียว แต่ยังเป็นต้นเหตุที่สำคัญเชื่อมโยงไปยังสถานการณ์หมอกควัน มลพิษทางอากาศ PM 2.5 และรวมไปจนถึงปัญหาในเรื่องของสุขภาพของคนในพื้นที่ที่จะตามมา โดยเฉพาะโรคระบบทางเดินหายใจที่กำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้

ดร.ศิริลักษณ์ พฤกษ์ปิติกุล ผู้อำนวยการสำนักประยุกต์และบริการภูมิสารสนเทศของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA กล่าวว่า ปัญหาเรื่องของไฟป่าหมอกควันเป็นปัญหาที่มีมาอย่างต่อเนื่องทุกปีโดยเฉพาะในช่วงเดือนมกราคม-เมษายน ปัญหาส่วนใหญ่ก็มาจากการบุกรุกพื้นที่เผาป่า การสร้างแนวกันไฟ การบริหารจัดการเชื้อเพลิงเชิงพื้นที่ และการเผาเพื่อเตรียมพื้นที่สำหรับการเกษตร ส่วนใหญ่พื้นที่ที่เกิดขึ้นก็จะเป็นพื้นที่เกษตร พี้นที่ป่าสงวน พื้นที่อนุรักษ์ พื้นที่ สปก. พื้นที่ชุมชน เป็นต้น ทั้งนี้ GISTDA มีการติดตามสถานการณ์มาอย่างต่อเนื่องเพื่อส่งข้อมูลให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถนำไปใช้บริหารจัดการเชิงพื้นที่ได้อย่างทันท่วงที โดยนำข้อมูลจากดาวเทียม Terra และ Aqua ของระบบ MODIS และ ข้อมูลจากดาวเทียม Suomi NPP ของระบบ VIIRS มาใช้ในการวิเคราะห์เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศเพื่อตรวจจับจุดความร้อน ทำให้สามารถรายงานจุดความร้อนที่เกิดขึ้นได้ภายในระยะเวลา 1 วัน หรือ 24 ชั่วโมง

ดร.ศิริลักษณ์ฯ กล่าวต่อไปว่า นอกจากการติดตามสถานการณ์ในเรื่องนี้เป็นประจำทุกวันแล้ว GISTDA ยังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยใช้ดาวเทียมระบบ MODIS และข้อมูลภูมิสารสนเทศวิเคราะห์และคาดการณ์ล่วงหน้า 7 วันสำหรับพื้นที่เสี่ยงที่จะเกิดไฟป่าได้ ซึ่งระหว่างวันที่ 15-21 กุมภาพันธ์ 2564 พบ 17 จังหวัดภาคเหนือที่เป็นพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดไฟป่า แบ่งเป็นพื้นที่เสี่ยงสูงในจังหวัด ตาก ลำพูน ลำปาง อุตรดิตถ์ แพร่ และน่าน ตามลำดับ  ส่วนจังหวัดที่เหลือพบความเสี่ยงในปริมาณน้อย เนื่องจากสัปดาห์ที่ผ่านมา มีฝนตกในหลายพื้นที่ของ 17 จังหวัดภาคเหนือ ส่งผลให้ในพื้นที่มีความชื้นมากขึ้น โดยข้อมูลดังกล่าวจะถูกส่งต่อให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้นำไปวางแผนเพื่อการจัดการเชื้อไฟ และจัดทำแนวกันไฟในพื้นที่เสี่ยง ซึ่งจะช่วยลดความรุนแรงและความเสียหายที่จะเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ GISTDA ยังติดตามและรายงานสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นข้อมูลให้กับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้นำไปใช้บริหารจัดการในพื้นที่
ท่านสามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ http://fire.gistda.or.th