ก้าวสู่ศักราชใหม่ ปี 2021 ด้วยความว้าววว!! กับการเปิดโฉมเรือเฟอรี่ระหว่าง จ.ชลบุรี-จ.สงขลา เดินทางข้ามภูมิภาคครั้งแรกของประเทศไทยเชื่อมพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก(อีอีซี) กับพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (เอสอีซี) เพื่อพัฒนาระบบเศรษฐกิจและส่งเสริมการท่องเที่ยว พร้อมทดสอบการเดินเรือในวันที่ 7 ม.ค.นี้


กรมเจ้าท่า (จท.) ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบโครงการเดินเรือเฟอรี่ระหว่าง จ.ชลบุรี-จ.สงขลา เพิ่มประสิทธิภาพระบบโลจิสติกส์ภายในประเทศ ที่อู่เรือ บริษัท ยูนิไทย ชิปยาร์ด จำกัด และตรวจท่าเรือต้นทาง (ท่าเรือจุกเสม็ดสัตหีบ) เมื่อวันที่ 30 ธ.ค.ที่ผ่านมา เพื่อเตรียมความพร้อมเรื่องความปลอดภัยในทุกด้าน เช่น ตัวเรือ อุปกรณ์ความปลอดภัยในเรือ สิ่งอำนวยความสะดวกที่จะรองรับผู้โดยสารจำนวนมาก มาตรการป้องกันรถเคลื่อนตัวขณะขนส่งตลอดจนมาตรการให้ความช่วยเหลือกรณีเกิดเหตุกลางทะเล

โครงการนี้?บริษัท ซีฮอร์ส เฟอร์รี่ จำกัด ได้เสนอตัวกับกรมเจ้าท่าด้วยการเป็นผู้ประกอบการเดินเรือเฟอรี่ระหว่าง จ.ชลบุรี-จ.สงขลา เพื่อยกระดับการเดินทางทางน้ำ เพิ่มประสิทธิภาพของระบบโลจิสติกส์ (การขนส่งสินค้า) ภายในประเทศ พัฒนาระบบเศรษฐกิจและส่งเสริมการท่องเที่ยวเชื่อมโยงภูมิภาคระหว่างพื้นที่ตะวันออกและพื้นที่ภาคใต้ รวมทั้งลดปัญหาความแออัดของการจราจรและอุบัติเหตุบนท้องถนน ช่วยประหยัดงบประมาณการซ่อมบำรุงถนนของภาครัฐ รวมไปถึงแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5)

นายวิทยา ยาม่วง อธิบดีกรมเจ้าท่า (จท.) ให้รายละเอียดว่า บริษัท ซีฮอร์ส เฟอร์รี่ จำกัด นำเข้าเรือเฟอรี่จากประเทศญี่ปุ่น เดิมชื่อ The Blue Dolphin มีขนาด 7,003 ตันกรอสส์ ความยาว 136.6 เมตร รองรับรถบรรทุกได้ประมาณ 80 คัน รถยนต์ส่วนตัว 20 คัน ผู้โดยสารประมาณ 586 คน จะให้บริการจากท่าเรือพาณิชย์สัตหีบ (ท่าเรือจุกเสม็ด) -ท่าเรือเซ้าท์เธิร์น โลจิสติกส์ 2009 จ.สงขลา ด้วยความเร็ว 17 น๊อตจาก 330 ไมล์ทะเล (611 กม.) ใช้เวลาเดินทางประมาณ 18-20 ชม. เร็วกว่าทางบกที่ระยะทางประมาณ 1,130 กม. ร่นระยะทาง 519 กม. ช่วยให้รถบรรทุกไม่ต้องหลังแข็งขับรถ 23-24 ชม. (ตามความเร็วที่กฎหมายกำหนดและรวมระยะเวลาการพัก) สามารถนำรถขึ้นเรือและ ใช้เวลานอนพักผ่อนบนเรือได้เต็มที่

โครงการนี้ผู้ประกอบการลงทุน?100% ทั้งตัวเรือเฟอรี่และจัดหาท่าเทียบเรือ โดยซื้อเรือเฟอรี่มือสองมาจากเมืองฮอกไกโด ประเทศญี่ปุ่นเดินทางถึงเมืองไทยแล้ว อยู่ระหว่างซ่อมบำรุงและปรับปรุงสภาพเรือที่อู่เรือบริษัท ยูนิไทยชิปยาร์ด จำกัด เบื้องต้นเตรียมแผนทดสอบระบบการเดินเรือและทดลองเปิดบริการเพื่อรับรถของลูกค้าบริษัทก่อนประมาณวันที่ 7 ม.ค.นี้ คาดว่าจะเปิดบริการอย่างเป็นทางการให้ประชาชนทั่วไปภายในเดือน ม.ค. หรืออย่างช้าเดือน ก.พ.

ถึงตรงนี้เชื่อว่า ผู้อ่านคงอยากทราบเรื่องอัตราค่าบริการหรืออัตราค่าโดยสาร….อธิบดีกรมเจ้าท่า ระบุว่า บริษัทฯยังไม่ได้เสนอรายละเอียดอัตราค่าโดยสารเนื่องจากรอปรับปรุงเรือให้เสร็จสมบูรณ์ โดยห้องพักมีหลายรูปแบบเพื่อกำหนดอัตราค่าโดยสารเป็นทางเลือก รวมไปถึงพิจารณาต้นทุนการเดินเรือและรอผลการทดสอบก่อน แต่ได้ให้ข้อแนะนำว่าควรกำหนดอัตราที่ผู้ประกอบการรถบรรทุกและประชาชนรับได้ รวมทั้งได้เน้นย้ำถึงมาตรฐานความปลอดภัยในการเดินเรือ ท่าเรือตัวเรือ อุปกรณ์ความปลอดภัยประจำเรือ คนประจำเรือ และการจัดการแผนเผชิญเหตุการณ์ต่าง ๆ ต้องเป็นไปตามมาตรฐานสากล เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ใช้บริการ และเป็นไปตามนโยบาย?นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ในการพัฒนาศักยภาพ ยกระดับโครงสร้างพื้นฐานและ โลจิสติกส์ในประเทศไทยให้มีความสามารถแข่งขันกับนานาประเทศได้

สำหรับท่าเรือพาณิชย์สัตหีบ (ท่าเรือจุกเสม็ด) เป็นท่าเทียบเรือที่อยู่ในการควบคุมดูแลของกองทัพเรือโดยแบ่งส่วนพื้นที่เพื่อใช้สำหรับเป็นท่าเทียบเรือเฟอรี่จำนวน 2 ท่า มีความยาว 75 เมตร ความกว้างหน้าท่า 30 เมตร ความกว้างหน้าแลมป์ 30 เมตร ระดับน้ำลึกหน้าท่า วัดจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ด้านนอกลึก 10 เมตร และด้านในลึก 8 เมตร โดยท่าเรือมีขีดความสามารถ ปลอดภัย และมีความพร้อมรองรับการจอดเรือเฟอร์รี่ ในระยะต่อไปบริษัทจะเพิ่มจุดจอดที่ อ.ปราณบุรี จ. ประจวบคีรีขันธ์ ด้วย ผู้ประกอบการกำลังเจรจาหาท่าเทียบเรือซึ่งขณะนี้ยังไม่เรียบร้อย จึงเปิดบริการเฟสแรกจากชลบุรีถึงสงขลาไปก่อน

รอลุ้น!!ค่าโดยสารหากไม่แพงเกินเอื้อม จะเป็นทางเลือกและทางลัดให้ผู้ประกอบการรถบรรทุก นักท่องเที่ยวและประชาชนถึงหมุดหมายแห่งการเดินทางโดยไม่เหนื่อยแต่ด้วยความเพลิดเพลินดื่มด่ำกับวิวทะเลและนอนหลับพักผ่อนบนเรือสำราญลำนี้

แหล่งข่าว