ดร.ธรณ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศทางทะเล โพสต์ข้อมูลสุดปลื้ม ระบุ ปีนี้พะยูนตายน้อยลงกว่าปีที่แล้ว และเผยข่าวดีเตรียมยกขนอมเป็นพื้นที่คุ้มครองทะเลเพื่อพะยูนและโลมา ยืนยันหากทุกอย่างราบรื่นทะเลไทยจะมีพื้นที่คุ้มครองเพิ่มขึ้น พร้อมเชื่อว่าคำว่ายั่งยืนจะเกิดขึ้นในทะเลชายฝั่งประเทศไทย

วันนี้ (20 ต.ค.) เฟซบุ๊ก “Thon Thamrongnawasawat” หรือ ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศทางทะเล และรองคณบดี คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ระบุข้อความ “ในปีนี้พะยูนตายไม่ถึง 10 ตัว น้อยกว่าปีที่แล้วเยอะครับ 20+ ตัว เหตุผลหนึ่งอาจมาจากโควิดทำให้ทะเลสงบ จึงเป็นจังหวะดีมากสำหรับการอนุรักษ์สัตว์หายาก หนึ่งในนั้นคือพื้นที่คุ้มครองทะเลขนอมเพื่อพะยูนและโลมา

ทะเลขนอมสวยมาก คำนี้ยืนยัน เพราะเมื่อสิบปีก่อน ผมเคยนั่งเรือขึ้นลงเลียบชายฝั่งเป็นเดือน เพื่อติดตามศึกษาโลมาสีชมพู ชายฝั่งพร้อมสรรพ ทั้งในด้านภูมิสัณฐาน หาดทราย หาดหิน และที่สำคัญคือ หินแพนเค้กที่พบอยู่เพียง 3-4 แห่งทั่วโลก เรานั่งเรือหางยาวของพี่ๆ เลาะมาตามฝั่ง เจอโลมาทุกครั้ง บางหนถึงขั้นว่ายเข้ามาเอาตัวถูเรือ สุดปลายทางก่อนวกกลับ คือ รอยต่ออำเภอดอนสักตรงนี้ มีเกาะเกือบติดฝั่ง เรียกเกาะท่าไร่ ในน้ำมีดงหญ้าทะเลผืนใหญ่เขียวปี๋ เป็นแหล่งหญ้าที่สำคัญสุดๆ ทำให้รอบๆ อุดมสมบูรณ์

คุณๆ ที่ไปท่าเรือเฟอร์รีแล้วเห็นโลมาสีชมพู ส่วนหนึ่งก็เพราะดงหญ้าตรงนี้แหละ ห่างไป 3 กม.เท่านั้น ยังรวมถึงพะยูน ผู้กินหญ้าทะเลโดยตรง รายงานล่าสุดปี 2563 มีพะยูนในอ่าวบ้านดอน 5 ตัว ว่ายน้ำไปมา

เมื่อนำทุกอย่างมารวมกัน หากเราประกาศชายฝั่งขนอมเป็นพื้นที่คุ้มครองทางทะเล จะเป็นประโยชน์มาก คุ้มครอง ในที่นี้ไม่ใช่ห้าม ชาวบ้านยังหากุ้งหอยปูปลาได้ โดยมีมาตรการช่วยดูแลแหล่งหญ้าทะเลไว้ เช่น ห้ามเปลี่ยนสภาพ ห้ามทิ้งตะกอน มลพิษ ห้ามทำการประมงที่ส่งผลกระทบโดยตรงกับระบบนิเวศ สัตว์หายาก ฯลฯ รวมถึงควบคุมการท่องเที่ยวให้ยั่งยืน เช่น ห้ามให้อาหารโลมา มีกติกาในการนำเรือเข้ามาชมสัตว์ ที่สำคัญคือ ให้คนท้องที่มีส่วนร่วมจริงจัง ตามแผนคือจัดตั้งอนุกรรมการขนอมภายใต้กฎหมายขึ้นตรงกับกรรมการทะเลจังหวัด

จากผลการศึกษาในสมัยก่อน เรื่อยมาจนถึงแผนทำร่วมกันทุกฝ่าย ทั้งกรมทะเล ชาวบ้าน นักวิชาการ ฯลฯ จนถึงวันนี้ แผนพื้นที่คุ้มครองชายฝั่งขนอมจะได้รับการพิจารณา เพื่อนำเสนอคณะกรรมการทะเลชาติต่อไป หากทุกอย่างราบรื่น ทะเลไทยจะมีพื้นที่คุ้มครองเพิ่มขึ้น ตอนนี้เรามีเกาะกระ เกาะมันใน เกาะโลซิน วันนี้ (20 ต.ค.) จะมีการพิจารณาอีก 4 แห่ง รวมขนอม ตามเป้า SDG 14 และยุทธศาสตร์ชาติ ไทยควรมีพื้นที่คุ้มครอง 10 เปอร์เซ็นต์ ของพื้นที่ทะเล ภายในปี 2030 ตอนนี้เกือบ 7 เปอร์เซ็นต์ แล้ว หากเราช่วยกันผลักดันต่อไป อีก 10 ปียังเป็นไปได้

แต่วันนี้ ดีใจมากครับ เพราะขนอมกำลังจะเป็นพื้นที่คุ้มครองทางทะเลแห่งใหม่ อะไรต่างๆ ที่ช่วยกันทำมา แม้ต้องใช้เวลา แต่สุดท้ายแล้วไม่เสียหลาย หญ้าทะเล โลมา พะยูน และชาวขนอมบ้านดอนจะได้ประโยชน์อย่างมากและคำว่ายั่งยืนจะเกิดขึ้นในทะเลชายฝั่ง ที่ผมกล้ายืนยันว่าสวยที่สุดแห่งหนึ่งของไทย”

แหล่งข่าว