แอกชันที่น่าติดตามล่าสุดมาจาก รมว.ทส. วราวุธ ศิลปอาชา ซึ่งได้ชี้แจงถึง (ร่าง) พระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (พ.ร.บ.โลกร้อน) ว่าทำไมประเทศไทยถึงจำเป็นต้องมีแม่บทกฎหมายนี้

“การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นวาระร่วมของประชาคมโลก และถือเป็นเรื่องที่พวกเราทุกคนต้องช่วยกันครับ ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันเข้าร่วมข้อตกลงปารีส เมื่อปี 2016 มีเป้าหมายสำคัญมุ่งเน้นที่การควบคุมอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียส จากระดับอุณหภูมิช่วงก่อนยุคอุตสาหกรรม โดยตั้งเป้าที่การลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ให้ได้ 11-20% ในภาคพลังงานและขนส่ง และจะขยับขึ้นเป็น 20% ทุกภาคส่วนในปี 2030 ซึ่งเราสามารถผลักดันอัตราการลดปริมาณ Co2 ได้ถึง 25% หากมีการสนับสนุนทางเทคโนโลยีที่ดีพอ

แต่ถึงแม้ส่วนราชการจะมีเป้าหมายที่ชัดเจน แต่ในด้านการดำเนินงานยังมีข้อติดขัดหลายอย่าง เช่น ไม่มีกลไกการตรวจวัดและจัดเก็บข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ครบถ้วน ทำให้ปัจจุบัน ข้อมูลนั้นกระจัดกระจายอยู่ตามหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง และยังมีข้อมูลบางส่วนที่ไม่เคยถูกสำรวจและจัดเก็บเลย ดังนั้นร่างพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่กำลังจัดทำโดย สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) จึงจะมาช่วยเป็นกลไกให้อำนาจหน่วยงานรัฐ เก็บข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคเอกชนครับ”

“จุดประสงค์ของพ.ร.บ.ฉบับนี้คือ การร่วมมือกับเอกชน ผู้ประกอบการ ไม่ว่าจะรายเล็กหรือใหญ่ จะมีหน้าที่เก็บข้อมูลกิจกรรมการปล่อย การกักเก็บ และการลดก๊าซเรือนกระจกต่างๆ ในกิจการของตน เช่น วางมิเตอร์การใช้พลังงานไฟฟ้าในโรงงาน และจัดทำรายงานให้หน่วยงานรัฐในกำกับ เพื่อที่หน่วยงานนั้นจะส่งต่อข้อมูลให้ สผ.คำนวณออกมาเป็นข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคส่วนต่างๆ โดยร่างพ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แบ่งเป็น 8 หมวด 56 มาตรา เมื่อพ.ร.บ.ออกบังคับใช้แล้ว จะมีการออกแผนแม่บทกับแผนปฏิบัติต่างๆ ตามมา คาดว่าจะดำเนินการเสนอร่างพ.ร.บ.ให้คณะรัฐมนตรีได้ภายในปลายปีนี้ครับ”

การออกพ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศฉบับนี้ จะช่วยขับเคลื่อนการดำเนินงานของประเทศไทย ทั้งในด้านการดูแลฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม และการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ เพราะว่าการค้าขายกับต่างประเทศจะถูกบังคับด้วยกรอบด้านสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น

ต่อไปผู้บริโภคเอง ก็จะสามารถตัดสินใจเลือกอุดหนุนผลิตภัณฑ์ที่มีการปล่อยคาร์บอนต่ำได้ และสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จะกลายมาเป็นเทรนด์การตลาดที่ผู้ประกอบการจะต้องแข่งขันกันทำขั้นตอนการผลิตของตัวเองให้เป็นมิตรกับชั้นบรรยากาศและสิ่งแวดล้อมมากที่สุด เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่มีความตื่นตัวด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมมากขึ้นทุกวัน จากนี้ไปการพัฒนาเศรษฐกิจของไทย จะต้องเดินหน้าไปพร้อมกับการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม จะแยกจากกันไม่ได้เด็ดขาดครับ

ทั้งนี้ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) อยู่ระหว่างการจัดงานประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นสาธารณะจากทุกภาคจนถึงช่วงต้นเดือนตุลาคมนี้ แต่ในขณะเดียวกัน เอ็นจีโอระดับโลก กรีนพีซประเทศไทย ก็ติดตามดูว่าร่างกฏหมายโลกร้อนจะเป็นส่วนหนึ่งของแผนการปฏิรูปประเทศภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ที่กำหนดไว้ว่า ภายในปี 2563 ประเทศไทยจะต้องมีร่างแรกของพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ รวมถึงการมีอนุบัญญัติต่างๆ และเมื่อพิจารณารายละเอียดเนื้อหาและความเข้มข้นของการบังคับใช้นั้นจะเพียงพอต่อการแก้ปัญหาโลกร้อนได้หรือไม่ หรือว่ายังมีการสงวนท่าทีที่เกรงใจต่อภาคอุตสาหกรรมซึ่งก็จะต้องติดตาม

แหล่งข่าว