ฉลามในออสเตรเลียคร่าชีวิตผู้คนไปแล้ว 7 รายในปีนี้ มากสุดในรอบ 86 ปี โดยส่วนหนึ่งมาจากปัจจัยสภาพอากาศที่เปลี่ยนไป

โฆษกจากสมาคมอนุรักษ์สัตว์จาก สวนสัตว์ทารองกา ออสเตรเลีย เปิดเผยว่า การโจมตีของฉลามในออสเตรเลีย เกิดขึ้นในหลายรัฐทั้งควีนส์แลนด์และนิวเซาท์เวลส์ โดยเมื่อช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา มีการนำเสนอข่าวการหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย ไม่พบแม้กระทั่งศพของนักประดาน้ำ ซึ่งโดยปกติแล้วในแต่ละปีจะมีผู้เสียชีวิตจากการถูกฉลามโจมตี 1-2 คน และในปี 2562 ไม่มีผู้เสียชีวิตเลย แต่ปรากฏว่าในปีนี้ คาดว่าฉลามคร่าชีวิตคนเหล่านั้นไปแล้ว 7 คน เท่ากับเมื่อ 86 ปีก่อน (พ.ศ.2477) โดยผู้เชี่ยวชาญ คาดว่า ฉลาม 3 สายพันธุ์ที่ต้องสงสัยว่า เข้าโจมตีมนุษย์จนเสียชีวิตมากที่สุด คือ ฉลามกระทิง ฉลามขาว และฉลามเสือ

ศาสตราจารย์ คูลัม บราวส์ (Culum Brown) จากภาควิชาวิทยาศาสตร์ชีวภาพของมหาวิทยาลัยแมคควอรี่ ในซิดนีย์ กล่าวว่า การเข้าโจมตีของฉลามในออสเตรเลียเฉลี่ยจะอยู่ที่ราว 21 ครั้งต่อปี และตลอด 50 ปีที่ผ่านมา มีผู้เสียชีวิตจากการถูกฉลามโจมตี 1 ราย แต่ในปีนี้ถือว่าสูงมาก มีคำอธิบายที่ถึงเหตุการณืที่เกิดขึ้นในหลายปัจจัย ผู้เชี่ยวชาญหลายคนชี้ให้เห็นว่า หนึ่งในปัจจัยที่ทำให้เกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นคือวิกฤตสภาพภูมิอากาศ

“เมื่ออุณหภูมิในมหาสมุทรร้อนขึ้น ระบบนิเวศทั้งหมดกำลังถูกทำลายและถูกบีบให้ปรับตัว ปลาต่างๆ อพยพย้ายถิ่น ไปในที่ที่ไม่เคยไปมาก่อน พฤติกรรมของสัตว์แต่ละสปีชีส์ กำลังเปลี่ยนไป ส่งผลให้ระบบนิเวศโลกใต้ทะเลเปลี่ยนไปด้วย และฉลามก็ติดตามเหยื่อของมันซึ่งอาจทำให้ต้องเข้าใกล้ชายฝั่งและมนุษย์มากขึ้น” บราวส์ กล่าว

นอกจากนั้นแล้ว ผลพวงจากสถานการณ์ไฟป่าขนาดใหญ่ทำให้เกิดคลื่นความร้อน ภัยแล้ง ที่เลวร้ายที่สุดในประวัติการณ์ ส่งผลไปยังมหาสมุทรทำให้เกิดสภาวะความเป็นกรดและอุณหภูมิที่สูงขึ้น สร้างความเสียหายต่อระบบนิเวศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ของออสเตรเลีย โดยพบว่าสภาพภูมิอากาศ และอุณหภูมิของน้ำร้อนขึ้นประมาณ 4 เท่าของค่าเฉลี่ยทั่วโลก

จุดสำคัญคือ แนวปะการัง เกรตแบร์ริเออร์รีฟ (Great Barrier Reef) ซึ่งเป็นระบบนิเวศทางทะเลที่สำคัญตามแนวชายฝั่งตะวันออก ประสบปัญหาปะการังฟอกขาวอย่างต่อเนื่องและขยายวงกว้าง ส่งผลให้แนวปะการังตายไปกว่าครึ่ง ป่าชายเลนถูกทำลายไปอีกจำนวนมหาศาลในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

ทั้งหมดนี้ทำให้สัตว์ทะเลอพยพไปทางใต้มากกว่าปกติ เพื่อค้นหาสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม เช่น สัตว์จำพวกปลาหางเหลือง ที่มักพบเห็นได้ทั่วไปในน่านน้ำเขตร้อนทางตอนเหนือ ก็ปรากฏเป็นฝูงใกล้กับเกาะทางตอนใต้ของรัฐแทสเมเนีย ปลาหมึกซิดนีย์ เปลี่ยนจากรัฐทางตะวันออกเฉียงเหนือของควีนส์แลนด์ลงมาที่แทสเมเนีย แม้แต่แพลงก์ตอนและพืชอย่าง สาหร่ายทะเล ก็เคลื่อนตัวไปทางใต้ เช่นกัน ดังนั้นไม่ต้องสงสัยเลยว่า นักล่าอย่างฉลามจะต้องตามล่าเหยื่อของมันไปด้วย

ประกอบกับในมหาสมุทร จะมีกระแสน้ำที่ไหลเชี่ยวทั้งกระแสน้ำอุ่นและน้ำเย็น กระแสน้ำในออสเตรเลียตะวันออกมีบทบาทสำคัญในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา พัดพา กระแสน้ำจากเขตร้อนทำให้น้ำในมหาสมุทรอุ่นขึ้น ขณะเดียวกันกระแสน้ำที่มีความรุนแรงมากขึ้น ก็ทำให้น้ำเย็นที่อุดมด้วยสารอาหารไหลไปสู่ชายฝั่งตะวันออกบางแห่ง อุณหภูมิของน้ำที่เปลี่ยนแปลงอย่างไม่หยุดนิ่งเหล่านี้ อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ฉลามเริ่มเคลื่อนตัวเข้าใกล้มนุษย์มากขึ้น

โรเบิร์ต ฮาร์คอร์ท นักวิจัยด้านนิเวศวิทยาของฉลามและผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนักล่าทางทะเลของ มหาวิทยาลัยแมคควอรี่ กล่าวว่า “พวกฉลามอาจมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนมากขึ้น ในขณะเดียวกัน กิจกรรมทางทะเลของมนุษย์ก็เพิ่มขึ้นตลอดเวลา” มหาสมุทรกำลังเปลี่ยนไป และฉลามก็กำลังเปลี่ยนแปลงไปพร้อมกับมัน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ทำลายล้างสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติของโลกและทำให้ทุกอย่างขาดความสมดุล รบกวนระบบนิเวศทางทะเล ที่อาศัยอยู่ ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวอพยพที่มีผลต่อมนุษย์มากขึ้น เรียบเรียงจาก CNN

แหล่งข่าว