ญี่ปุ่นเตรียมปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีผ่านการบำบัดแล้ว จากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะที่ได้รับความเสียหายจากสึนามิเมื่อปี 54 ลงสู่ทะเล ท่ามกลางการคัดค้านจากนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

เมื่อ 16 ต.ค.63 สำนักข่าวบีบีซีรายงานอ้างสื่อในญี่ปุ่นหลายสำนัก เผย ทางการญี่ปุ่นเตรียมปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสี ที่ได้รับการบำบัดแล้วจำนวนกว่า 1 ล้านตันออกจากโรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ไดอิชิ ที่จังหวัดฟุกุชิมะลงสู่ทะเล นับตั้งแต่โรงงานไฟฟ้าแห่งนี้ได้รับความเสียหายอย่างหนักจากสึนามิ หรือคลื่นยักษ์ที่ซัดถล่ม ภายหลังเกิดแผ่นดินไหวรุนแรง เมื่อปี 2554

สื่อท้องถิ่นในญี่ปุ่น ทั้งนิกเคอิ และโยมิอุริ ชิมบุน เผยว่า การจะปล่อยน้ำออกจากโรงงานไฟฟ้าฟุกุชิมะนั้น เป็นประเด็นที่ก่อให้เกิดการถกเถียงมาหลายปี ซึ่งยังรวมถึงน้ำที่ใช้ในระบบหล่อเย็นของโรงไฟฟ้าที่ได้รับความเสียหายจากสึนามิด้วย โดยกลุ่มนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและสัตว์น้ำทางทะเลได้คัดค้านความคิดในการจะปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีลงสู่ทะเล ทว่าถูกนักวิทยาศาสตร์จำนวนมากแย้งว่ามีความเสี่ยงต่ำ

บีบีซีรายงานด้วยว่าสาเหตุที่ทำให้กำลังมีความจำเป็นอย่างเร่งด่วนในการปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ เป็นเพราะขณะนี้พื้นที่ในการจัดเก็บน้ำกำลังจะหมดลง เนื่องจากน้ำใต้ดินและน้ำฝนทำให้ถังเก็บน้ำเต็มเร็วมากขึ้น ในขณะที่ปัญหาที่ยังหาทางแก้ไขไม่ได้คือ ขณะที่ไอโซโทปของกัมมันตรังสีส่วนใหญ่สามารถถูกขจัดออกจากน้ำได้ จากการใช้กระบวนการกรองน้ำที่มีความซับซ้อน แต่มีไอโซโทปกัมมันตรังสีหนึ่งชนิดที่เรียกว่า “ทริเทียม” ไม่สามารถจะถูกขจัดออกจากน้ำได้ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องเก็บน้ำไว้ในถังเก็บน้ำขนาดใหญ่ซึ่งจะเต็มในปี 2565

ด้านนายฮิโรชิ คาจิยะมา รมว.อุตสาหกรรมญี่ปุ่น กล่าวว่าขณะนี้ ทางการญี่ปุ่นยังไม่ได้มีการตัดสินใจเกี่ยวกับการปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีที่ได้รับการบำบัดแล้วลงสู่ทะเล แต่รัฐบาลก็มีแผนในเร็วๆ นี้ และเพื่อเป็นการป้องกันความล่าช้าที่จะเกิดขึ้นในกระบวนการต่างๆ ทำให้รัฐบาลจำเป็นต้องตัดสินใจอย่างรวดเร็ว

ทั้งนี้กลุ่มรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมได้พยายามคัดค้านการปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะลงสู่มหาสมุทร ขณะที่กลุ่มประมงได้ชี้ว่าถ้าปล่อยน้ำเหล่านี้ลงสู่ทะเลและมหาสมุทรจะทำให้บรรดาผู้บริโภคไม่ซื้อผลิตภัณฑ์อาหารทะเลในภูมิภาคนี้ของญี่ปุ่น อย่างไรก็ตาม มีนักวิทยาศาสตร์บางคนกล่าวว่า การปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีที่ผ่านการบำบัดแล้วจะถูกเจือจางกับน้ำมหาศาลในมหาสมุทร และไอโซโทปทริเทียมก็มีความเสี่ยงต่ำต่อสุขภาพของมนุษย์และสัตว์น้ำในทะเล

แหล่งข่าว