นครราชสีมา – ชลประทาน8จับตาน้ำโคราชอยู่ในเกณฑ์น้อย

31-Aug-2020

ชลประทาน 8 จับตาสถานการณ์น้ำโคราช หลังปริมาณน้ำกักเก็บในเขื่อนอยู่ในเกณฑ์น้อย ต้องประเมินอีกครั้งหลังหมดฝน

นายวิวัฒน์ ฐิติรัตนอัศว์ ผู้อำนวยการส่วนบริหารจัดการน้ำและบำรุงรักษา สำนักงานชลประทานที่ 8 กล่าวถึงสถานการณ์น้ำในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ว่า ตอนนี้ยังอยู่ในช่วงฤดูฝน สถานการณ์น้ำจึงยังไม่วิกฤติ คาดว่า อาจจะมีพายุหรือร่องมรสุมพาดผ่านเข้ามาอีกสักรอบ ประมาณกลางเดือนกันยายน หรือต้นเดือนตุลาคม 2563 ช่วยเติมน้ำเข้าอ่างเก็บน้ำ ซึ่งตั้งแต่เดือนมกราคม 2563 ถึงปัจจุบัน มีฝนตกประมาณ 402 มิลลิเมตร น้อยว่าค่าฝนเฉลี่ย 867 มิลลิเมตร หรือน้อยกว่า 56 % ซึ่งกรมอุตุนิยมวิทยุ คาดการณ์ว่า ปีนี้ฝนยังอยู่ในเกณฑ์เฉลี่ย จึงบ่งชี้ได้ว่า อาจจะมีฝนเข้ามาอีกรอบ แต่ด้วยปัจจัยสภาพอากาศไม่ปกติ ต้องติดตามสถานการณ์ตลอดเวลา ทางชลประทานจึงได้เตรียมมาตรการรับมือป้องกันเอาไว้ตั้งแต่ปีที่แล้ว จึงมั่นใจว่า จะสามารถบริหารจัดน้ำได้อย่างเพียงพอตลอดหน้าแล้งที่จะถึง

ซึ่งสภาพน้ำปัจจุบัน 4 อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา พบว่า อ่างเก็บน้ำลำตะคอง สภาพน้ำปัจจุบัน มีปริมาตรน้ำเหลืออยู่ที่ 94.16 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 29.94 % แต่เป็นน้ำใช้การได้เพียง 71.44 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 24.49 % เท่านั้น ขณะที่อ่างเก็บน้ำลำพระเพลิง มีปริมาตรน้ำเหลือน้อยแค่ 43.49 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 28.06 % และเป็นน้ำใช้การได้เพียง 42.77 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 27.72 % เท่านั้น ส่วนอ่างเก็บน้ำมูลบน ปริมาตรน้ำเหลืออยู่ที่ 26.58 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 18.85% แต่เป็นน้ำใช้การได้เพียง 19.58 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 14.61 % และอ่างเก็บน้ำลำแชะ มีปริมาตรน้ำเหลือ 49.99 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 18.18 % แต่เป็นน้ำใช้การได้เพียง 42.99 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 20.85 % เท่านั้น สำหรับอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 23 อ่างฯ เหลือน้ำรวม 77.14 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 23.29 % แต่เป็นน้ำใช้การได้ 52.13 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 17.03 % จึงจำเป็นต้องสงวนน้ำดิบเอาไว้เพื่อผลิตประปาแจกจ่ายให้ประชาชนได้ใช้อุปโภค บริโภค เป็นลำดับแรก รองลงมาคือ รักษาระบบนิเวศ การเกษตร และการอุตสาหกรรม

สำหรับอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 23 แห่ง ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา มีปริมาณความจุที่ระดับเก็บกักที่ประมาณ331 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่ปัจจุบันมีปริมาณเก็บกักอยู่ที่ 77 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือประมาณ 23 % ซึ่งมี 2 แห่งที่มีปริมาณน้ำเกิน 80% ได้แก่ อ่างเก็บน้ำบ้านสันกำแพง อ.วังน้ำเขียว และอ่างเก็บน้ำบะอีแตน อ.วังน้ำเขียว ซึ่งที่อ่างเก็บน้ำบ้านสันกำแพง เมื่อน้ำล้นสปิลเวย์ มวลน้ำก็จะไหลไปลงอ่างเก็บน้ำลำพระเพลิง ช่วยเติมน้ำให้อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ได้อีกทาง ส่วนอ่างฯอื่นๆที่มีปริมาณน้ำน้อย ทางชลประทานฯ จะใช้วิกฤติเป็นโอกาส ดำเนินการขุดลอกเพื่อเพิ่มพื้นที่กักเก็บน้ำ

ซึ่งในช่วงเดือนตุลาคม หรือพฤศจิกายน จะเตรียมประชุม JMC กลุ่มผู้ใช้น้ำ ภาครัฐ ภาคเอกชน เพื่อวางแผนบริหารจัดการน้ำอย่างเหมาะสมอีกรอบ พร้อมขอความร่วมมือเกษตรกรนอกเขตชลประทาน งดปลูกนาปรัง หันไปปลูกพืชใช้น้ำน้อย เพื่อสงวนน้ำที่มีจำกัดไว้บริโภคบริโภคตลอดแล้ง ส่วนพื้นที่เกษตรในเขตชลประทาน ได้วางแผนร่วมกับเกษตรกรในพื้นที่ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี โดยปีนี้เกษตรกรได้เลื่อนระยะเวลาเพาะปลูกข้าวนาปีออกไปเพื่อรอน้ำฝน ทางชลประทานจะเสริมน้ำให้ในช่วงที่ฝนทิ้งช่วง และในช่วงที่ข้าวตั้งท้องเพื่อให้เกษตรกรได้ผลผลิตเต็มเม็ดเต็มหน่วย

ในส่วนของประปา ได้เรียกประชุมอย่างต่อเนื่องทั้งในช่วงฤดูฝนและฤดูแล้ง ซึ่งช่วงปลายฤดูฝน จะต้องมาสรุปอีกครั้งว่า เหลือน้ำต้นทุนเท่าไร ก็จะเชิญประปาภูมิภาคและประปาเทศบาลฯ มาพูดคุยเพื่อรับทราบสถานการณ์ร่วมกัน พร้อมกับแนะนำให้หาพื้นที่เพิ่มสำหรับเก็บกักน้ำดิบเอาไว้ จะได้ไม่เกิดผลกระทบขาดแคลนน้ำดิบผลิตประปาในช่วงหน้าแล้ง ขณะเดียวกัน ทางชลประทานฯ ได้เตรียมเครื่องจักรเครื่องมือช่วยเหลือเอาไว้ ทั้งรถบรรทุกน้ำ จำนวน 23 คัน และเครื่องสูบน้ำ อีก 80 เครื่อง ถ้าพื้นที่ใดใน 4 จังหวัดรับผิดชอบของสำนักงานชลประทานที่ 8 เกิดปัญหาขาดแคลนน้ำ สามารถประสานขอรับการสนับสนุนเครื่องมือเครื่องจักรไปช่วยเหลือได้ทันที นอกจากนี้ ชลประทานฯได้เตรียมแผนรองรับสถานการณ์เอาไว้หลายด้าน อาทิ แผนงาน/โครงการก่อสร้างแก้มลิงในปี 2563 และ2564 และประสานความร่วมมือกับฝนหลวง ให้ช่วยขึ้นบินทำฝนเทียมเติมน้ำเข้าอ่างเก็บน้ำแต่ละแห่ง นายวิวัฒน์ฯ กล่าว

beta innnews