กระบี่ – ดีเอสไอแจ้งข้อกล่าวหาร่วมรุกป่าอ่าวนาง-ป่าหางนาค แล้ว 23 คน

30 มิถุนายน 2563

ดีเอสไอเผยแจ้งข้อกล่าวหาข้าราชการ-ชาวบ้าน ร่วมกระทำผิดบุกรุกออกโฉนด ป่าสงวนฯ ป่าอ่าวนาง ป่าหางนาค แล้ว 23 คน ระบุพร้อมให้ส่งหลักฐานเพื่อยืนยันความบริสุทธิ์ ก่อนส่งสำนวนให้อัยการ

วันนี้ (30 มิ.ย.2563) กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เผยแพร่ข่าวความคืบหน้าคดีรุกป่าอ่าวนาง จ.กระบี่ ว่า กรมสอบสวนคดีพิเศษ โดยกองคดีทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้รับเรื่องที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติให้พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษ สอบสวนดำเนินคดี

กรณี นายกาหรีม เตบบุตร ผู้ใหญ่บ้าน และราษฎร ยื่นคำขอและนำเจ้าพนักงานที่ดินเดินสำรวจออกโฉนดที่ดิน 33 แปลง ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าอ่าวนาง ป่าหางนาค เขตพื้นที่ ต.หนองทะเล อ.เมืองกระบี่ จ.กระบี่ ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 ประกอบ มาตรา 86 โดยรับเป็นคดีพิเศษที่ 7/2562 มีการสอบสวนและแจ้งข้อกล่าวหาผู้เกี่ยวข้องไปแล้ว 10 คน และยังมีผู้อยู่ในข่ายถูกแจ้งข้อกล่าวหาอีก 13 คน อยู่ระหว่างเร่งรัดการสืบสวนสอบสวน

กรณีดังกล่าว สืบเนื่องจากคณะกรรมการคดีพิเศษ ได้มีมติในการประชุมครั้งที่ 4/2550 เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2550 ให้รับกรณีมีกลุ่มบุคคลบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติ ป่าอ่าวนาง ป่าหางนาค โดยมีการออกหนังสือแสดงสิทธิ์โฉนดที่ดิน โดยมิชอบด้วยกฎหมาย จำนวน 51 แปลง รวมเนื้อที่ประมาณ 200 ไร่ ในเขตพื้นที่ ต.หนองทะเล อ.เมืองกระบี่ จ.กระบี่ เป็นคดีพิเศษ ที่จะต้องดำเนินการสืบสวนสอบสวน ตามมาตรา 21 วรรคหนึ่ง (2) แห่งพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547 ซึ่งกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้รับเรื่องดังกล่าวไว้เป็นคดีพิเศษที่ 71/2550

จากการสืบสวนสอบสวนขณะนั้น ปรากฏข้อเท็จจริงว่า โฉนดที่ดิน จำนวน 33 แปลง จาก 51 แปลง คิดเป็นเนื้อที่ประมาณ 97-3-10 ไร่ มีพยานหลักฐานว่า ออกโดยไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และกฎหมาย เนื่องจากที่ดินเป็นที่เขาหรือภูเขาและไม่มีลักษณะการทำประโยชน์มาก่อน อีกทั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ

การกระทำของเจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ผู้ดำเนินการขีดเขตและรับรองแนวเขตป่าสงวนแห่งชาติ และเจ้าหน้าที่ที่ดินผู้เกี่ยวข้องในการออกโฉนดที่ดิน เข้าข่ายกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการและยังมีบุคคลอื่นซึ่งเป็นผู้ยื่นคำขอและนำเจ้าพนักงานที่ดินเดินสำรวจ เพื่อออกโฉนดที่ดิน ได้ร่วมกระทำการกับเจ้าหน้าที่ด้วย อันเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. กรมสอบสวนคดีพิเศษจึงได้ส่งสำนวนการสอบสวนไปยังสำนักงาน ป.ป.ช. เพื่อพิจารณาไต่สวน เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2552

ต่อมา คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้มีมติชี้มูลการกระทำความผิด ในส่วนของเจ้าหน้าที่ของรัฐ และมีการพิจารณาร่วมกันระหว่างคณะทำงานของคณะกรรมการ ป.ป.ช. และสำนักงานอัยการสูงสุด มีมติให้พนักงานอัยการ ยื่นฟ้องเป็นคดีอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการ หรือรักษาทรัพย์ใด ๆ ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่รัฐ ซึ่งมีอัตราโทษสูง กล่าวคือ มีอัตราโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสี่หมื่นบาท

นอกจากนั้น ในส่วนของผู้ปกครองท้องที่ คือ นายกาหรีม เตบบุตร ผู้ใหญ่บ้าน รวมถึงราษฎรที่ยื่นคำขอ และนำเจ้าพนักงานที่ดิน เดินสำรวจออกโฉนดที่ดิน 33 แปลงในคดีนี้ ย่อมมีความผิดฐานเดียวกัน โดยราษฎรจะเป็นเรื่องการสนับสนุนการกระทำผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 ประกอบมาตรา 86 คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงมีมติส่งเรื่องให้พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษ ซึ่งเป็นผู้สอบสวนพบการกระทำผิดและดำเนินคดีมาแต่ต้น เป็นผู้สอบสวนดำเนินคดีในเรื่องนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

โดยสำนักงาน ป.ป.ช. มีหนังสือแจ้งมติคณะกรรมการ ป.ป.ช. ดังกล่าว ให้กรมสอบสวน คดีพิเศษทราบ เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2561 ซึ่งภายหลังจากที่รับเรื่องจากสำนักงาน ป.ป.ช.แล้ว กรมสอบสวนคดีพิเศษ โดยกองคดีทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ตั้งคณะพนักงานสอบสวนขึ้น สอบสวนและรวบรวมพยานหลักฐาน พบบุคคลที่มีพยานหลักฐานพอแจ้งข้อกล่าวหา ในฐานะความผิดดังกล่าว จำนวน 23 คน จึงออกหมายเรียกให้มารับทราบข้อกล่าวหา

ขณะนี้ได้แจ้งข้อกล่าวหากับผู้ต้องหาแล้ว 10 คน ในความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการ หรือรักษาทรัพย์ใดๆ ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่รัฐ และเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมาย

เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือโดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151, 157 ประกอบ มาตรา 86 และอยู่ระหว่างกระบวนการอีก 13 คน

ทั้งนี้ เมื่อรับทราบข้อกล่าวหาแล้ว เป็นสิทธิตามกฎหมายของผู้ต้องหา ที่สามารถนำข้อเท็จจริงหรือพยานหลักฐาน มามอบให้พนักงานสอบสวนคดีพิเศษเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนได้ อันเป็นขั้นตอนตามกฎหมาย ก่อนที่พนักงานสอบสวนคดีพิเศษจะพิจารณาข้อเท็จจริง และพยานหลักฐานทั้งหมด และมีความเห็นทางคดีส่งพนักงานอัยการต่อไป

กรมสอบสวนคดีพิเศษ จึงขอประชาสัมพันธ์ผลการดำเนินคดีในขั้นตอนสำคัญเพื่อทราบ และยืนยันว่า กรมสอบสวนคดีพิเศษ มีนโยบายสำคัญในการป้องกัน ปราบปราม สืบสวน และสอบสวน เพื่อรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอันเป็นสมบัติของชาติตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงยุติธรรม โดยทุ่มเททรัพยากรในการปฏิบัติงาน รวมทั้งบูรณาการร่วมกับทั้งภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคม มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง และมีผลงานเป็นที่ประจักษ์

ทั้งนี้ หน่วยงานของรัฐ เอกชน หรือภาคประชาสังคม สามารถส่งข้อมูลหรือ แจ้งเบาะแสการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมายังกรมสอบสวนคดีพิเศษ โดยเดินทางมาด้วยตนเอง หรือส่งเป็นหนังสือมายังอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เลขที่ 128 อาคารกรมสอบสวนคดีพิเศษ ถ.แจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร 10210

เว็บไซต์กรมสอบสวนคดีพิเศษ www.dsi.go.th เลือก “บริการ” และเลือก “แจ้งเบาะแสร้องเรียน ร้องทุกข์”, DSI Call Center 1202 (โทร.ฟรีทั่วประเทศ) หรือ ไปยัง ศูนย์ปฏิบัติการคดีพิเศษพื้นที่ต่างๆ ของกรมสอบสวนคดีพิเศษ ที่มีจำนวน 10 ศูนย์ปฏิบัติการทั่วประเทศ โดยตรวจสอบสถานที่ตั้งและวิธีติดต่อได้ที่เว็บไซต์ของกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือสอบถามที่ DSI Call Center 1202

ข่าวไทยพีบีเอส