มหาสารคาม : ห่วงฤดูฝนน้ำอาจไม่พอ เตรียมแผนรับมือ ย้ำเกษตรกรอย่าเร่งปลูกข้าว

21 พ.ค. 2020

คณะกรรมการและผู้ใช้น้ำน้ำสองฝั่งแม่น้ำชี-มหาสารคาม เตรียมแผนบริหารจัดการน้ำ แม้เข้าฤดูฝนแล้ว แต่อาจไม่เพียงพอภาคเกษตรบางพื้นที่ พบเกษตรกรเริ่มพากันปลูกข้าว ขณะที่น้ำหน้าเขื่อนวังยางยังต่ำกว่าเกณฑ์

นายอนันต์ศักดิ์ แย้มชื่น ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาชีกลาง  พร้อมนายพัฒนะ พลศรี  หัวหน้าฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาเขื่อนวังยาง  นายจรัส  เพ็ญศิริสมบูรณ์  ผู้อำนวยการชลประทานจังหวัดมหาสารคาม รวมทั้งกลุ่มผู้ใช้น้ำทั้ง 2 ฝั่งติดแม่น้ำชี และคณะกรรมการผู้ใช้น้ำทั้ง 4 อำเภอ จ.มหาสารคาม  ประกอบด้วย อ.เชียงยืน  โกสุมพิสัย  กันทรวิชัย  และอำเภอเมือง ประชุมวางแผนการบริหารจัดการน้ำเขื่อนวังยางช่วงฤดูฝน

นายอนันต์ศักดิ์ กล่าวว่า  ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาประกาศว่าประเทศไทยเข้าสู่หน้าฝนอย่างเป็นทางการในวันที่ 18 พฤษภาคมที่ผ่านมา โดยแผนเริ่มการเพาะปลูกพืชฤดูฝนในปี 2563 ได้ขอความร่วมมือเกษตรกรให้เริ่มการเพาะปลูกในวันที่ 1 กรกฎาคมนี้ เพราะพบว่าขณะนี้หลายพื้นที่เริ่มมีการเพาะปลูกกันแล้ว  ซึ่งเสี่ยงต่อปัญหาฝนทิ้งช่วง  หากจะปลูกข้าวขอให้คำนึงถึงน้ำต้นทุนว่ามีเพียงพอหรือไม่  เนื่องจากเขื่อนไม่มีแผนสนับสนุน

การเตรียมแปลงเพาะปลูก โดยจะส่งน้ำให้เมื่อมีปริมาณน้ำต้นทุนเพียงพอ  หรือพิจารณาแล้วว่าสามารถช่วยเหลือได้ และเวลานี้ปริมาณน้ำหน้าเขื่อนยังคงต่ำระดับเก็บกักประมาณ 2 เมตร

นายอนันต์ศักดิ์ กล่าวว่า  ที่ประชุมมีมติพิจารณาระดับเก็บกักน้ำหน้าเขื่อนวังยาง  ให้อยู่ที่ระดับ 137.00 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง  หรืออยู่ที่ 33 ล้านลูกบาศก์เมตร  ปัจจุบันระดับน้ำอยู่ที่ 135.07 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง  หรือ 17.79 ล้านลูกบาศก์เมตร  คิดเป็นร้อยละ 52.96 และขอให้สถานีสูบน้ำขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตลอดลำน้ำชี 84 สถานีงดสูบน้ำจนกว่าจะมีน้ำเพียงพอ โดยขอสงวนน้ำไว้สำหรับอุปโภคบริโภค  ผลิตน้ำประปา  และรักษาระบบนิเวศน์เท่านั้น.

สำนักข่าวไทย